วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ผลกระทบจากการปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution’s Effect)


บทความ/ทัศนะ

ผลกระทบจากการปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution’s Effect)

ยุทธ อิสระไท

สำนักคิดอิสระไท





ภาค ๑

ถอดรหัส



ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในภาวะตึงเครียดจากปัญหาชายแดนด้านเขมร รวมทั้งการเมืองในประเทศก็อยู่ในระยะเข้มข้น ทั้งจากการขับเคลื่อนของขบวนพันธมิตร และขบวนเสื้อแดง โดยมีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นเป้าหมายร่วม โดยมิได้นัดหมาย

ขบวนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทุกขบวน ก็อยู่ในระยะปรับตัว ขยับให้เข้าที่เข้าทาง อย่างคึกคัก เช่นเดียวกับสำนักคิด ทฤษฏี เริ่มเบ่งบาน พร้อมแข่งขันประชันเสียง...

สำนักคิดอิสระไท ตั้งใจ มีใจ ใส่ใจ ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ของขบวนการต่อสู้ของประชาชน มุ่งแสวงหาหนทาง นวัตรกรรม การค้นพบใหม่ ในแนวทางการเคลื่อนไหว ต่อสู้ของขบวนการประชาชนทั่วโลก ที่น่าจะนำมาประยุกต์กับการเคลื่อนไหวทางสังคมไทย ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้อง

เพื่อสร้างเสริมเติมเต็มขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เสมือนโดน “แช่แข็ง” ใว้ในตู้เกียรติยศแห่งประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ยาวนานมาแล้วไม่น้อยกว่าสามสิบปี และเพิ่งจะกลับมามีชีวิตชีวา ในความพยายามจะฟื้นชีวิตองค์กรนำที่เคยมีบทบาทสูงเด่นนั้นอีกครั้ง

เมื่อฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาจริง จะได้ไม่เห็นแต่เพียงสิ่งที่เป็น อดีตอันเคยรุ่งโรจน์ กับ ความคิดชี้นำดั้งเดิม ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีชุดเดิม องค์ความรู้บทเดิม ตำราเล่มเดิม ซึ่งแม้มีสาระสำคัญที่ยังคงเป็นสัจธรรมสัมบูรณ์อยู่ก็ตาม แต่สภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปไกลในระยะกว่าสามสิปปีที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ ๆ  เพื่อความรู้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจจธรรมนิรันด์กาล...

ดังเช่นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง ใช้เวลาบ่มเพาะปัญหาสั่งสมยาวนานกว่าสามสิบปี ด้วยประกายไฟแวบเดียวก็จุดติด และใช้เวลาอีกเพียง  ๒๘ วันในการลุกขึ้นสู้ของประชาชนแห่งตูนิเซียจนโค่นล้มผู้นำจอมเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนานได้ด้วยพลังใหม่ในทางสังคม และด้วยเครื่องมือการต่อสู้ใหม่ล่าสุด ก่อนที่จะลามไปยังประเทศข้างเคียงอีกกว่าสิบประเทศ...อันเป็นที่มาของปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “การปฏิวัติดอกมะลิ” ดังมีสาระที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้....

ที่มา ; จากดอกกุหลาบ ถึง ดอกมะลิ

เมื่อไล่เรียงที่มาของ “การปฏิวัติดอกมะลิ” ที่แสดงกระบวนการเชิงวาทกรรม กับ การใช้สัญญลักษณ์ในการเร่งเร้า อารมณ์ และระดมผู้คนเข้าร่วมการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทางสังคมในภูมิภาคหนึ่งๆ  ดังนี้..

จากเหตุการณ์ในตูนิเซีย เริ่มจาก นาย Mohamed Bouazizi วัย 26 ปี  ตกงานและต้องหารายได้เลี้ยงดูคนในครอบครัว 8 คน เขาจึงเข็นรถขายผักที่ไม่มีใบอนุญาติไปตามเมือง Sidi Bouzid  ทางตอนใต้ของตูนิเซีย จนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2010  โดนตำรวจหญิงยึดรถเข็นขายผักไป  ด้วยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจึงพยายามจ่ายเงิน 10 ดีน่า แต่กลับโดนตำรวจหญิงคนนั้นตบหน้า ถ่มน้ำลายใส่หน้า และดูถูกพ่อของเขา  เขาก็เลยไปร้องเรียนที่ provincial headquarters  แต่สิ่งที่ได้รับคือ การไม่สนใจและการได้รับการปฎิบัติแบบกากเดน ไม่มีค่า เป็นพลเมืองขยะ เขาจึงโมโห แล้วไปพ่นสี เขียนข้อความด่าตามที่สาธารณะ ก่อนจะจุดไฟเผาตัวเองเสียชีวิต เพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่ทางการนั่นเอง

เหตุการณ์ดังกล่าวนำสู่การรวมตัวของประชาชนเพื่อประท้วงในวันถัดมาในเมือง  Sidi Bouzid และเริ่มขยายใหญ่ขึ้น เมื่อมีการส่งข่าวกันทาง facebook youtube จนลุกลามนำไปสู่การประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี  Zine el Abidine Ben Ali  จนต้องขอลี้ภัยที่ประเทศซาอุ และเปลี่ยนรัฐบาล 

ปรากฎการณ์การขับไล่รัฐบาลนี้ สื่อต่างๆ ในประเทศตะวันตก พากันเรียกว่า "jasmine revolution" หรือบางทีก้เรียกว่า "Sidi Bouzid Intifadah"" แปลว่า การประท้วงการกดขี่ในเมือง Sidi Bouzid

คำว่า jasmine revolution"  จึงเป็นสัญลักษณ์การเรียกตนเองในการประท้วงหรือสื่อเป็นผู้ตั้งให้ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ โดยเรียกกันว่า "colour revolution" ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ส่วนใหญ่มักเรียกร้อง ขับไล่รัฐบาล ตามท้องถนนเรื่องการคอรัปชั่น การว่างงาน การอดอยาก เสรีภาพในการคิดการพูด ประชาธิปไตย และมักต่อต้านความรุนแรงด้วย คือ

- ปี 2003 ปรากฎการณ์ "rose revolution" ใน Georgia ที่มีการประท้วงการเลือกตั้ง โดยนายMikheil Saakashvili  เค้าเชื่อว่าเค้าชนะการเลือกตั้งโดยดูจากผล EXIT POLL แต่กลับไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล  เค้าจึงนำทีมประท้วง ที่ freedom square ในวันเปิดสภาวันแรกเค้าได้ลุกขึ้นขัดขวางการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธิบดี Eduard Shevardnadze  โดยนายMikheil Saakashvili   ได้ถือดอกกุหลาบอยู่ในมือ หลังจากนั้นก็นำไปสู่การเปลี่ยนอำนาจ สื่อจึงตั้งชื่อการประท้วงว่า rose revolution

- ในปี 2004 เกิด "orange revolution" ใน ยูเครนในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก้คล้ายๆ กับการโกงการเลือกตั้งในเจอเจีย แต่ครั้งนี้เค้าใช้ริบบิ้นสีส้มในการต่อสู้

- ในปี 2005 เกิด "tulip revolution" ใน Kyrgyzstan หรือบางครั้งก้เรียกว่า pink revolution

- ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2005 เกิด "cedar revolution" ในเลบานอน ประท้วงเรื่องสิทธิของชาว syrian ในเลบานอน โดยใช้สีขาวและสีแดงของไม่ซีด้าเป็นสัญลักษณ์

- เดือนมีนาคม 2005 เกิด "blue revolution" ในคูเวต ที่กลุ่มผุ้หญิงประท้วงเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง

- ปี 2005 เกิด "purple revolution" ในอีรัก เรื่องการเลือกตั้งที่มีอเมริกาหนุนหลัง

- ปี 2009 เกิด "green revolution" ในอิหร่าน ประท้วงเรื่องการเลือกตั้ง

ล่าสุด คือ jasmine revolution ในตูนิเซีย ที่ใช้สัญลักษณ์สีขาวในการประท้วง ในการประท้วงแบบ "colour revolution" ตามประเทศต่างๆ นั้น มีคำหนึ่งที่เค้าใช้คือคำว่า "wider Arub world"  คือ ทั้งหมดที่มีการประท้วงนั้น ล้วนอยู่ในกลุ่มโลกอาหรับทั้งสิ้น 

ถอดรหัส ปรากฏการณ์ดอกมะลิ

            แม้จนทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีการระบุความหมายชัดเจนของวาทกรรมเชิงสัญญลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก่อการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศอาฟริกาเหนือ ในนามของ ปรากฏการณ์ดอกมะลิ หรือ Jasmine Effects แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอาฟริกาเหนือ ที่เริ่มจาก ตูนิเซีย ก่อนลุกลามสู่ประเทศอื่น ได้แก่ ซูดาน อียิปต์ จอร์แดน ฯลฯ พอที่จะจับกฏเกณฑ์ที่เป็น “ปัจจัย” แวดล้อม หรือ เหตุปัจจัยสำคัญร่วมกันได้จำนวนหนึ่งดังต่อไปนี้

ปัจจัยที่ ๑ การปกครองต่อเนื่องยาวนาน

            ผู้นำตูนิเซียอยู่ในอำนาจ ยาวนานกว่า ๒๓ ปี ขณะที่ผู้นำอียิปต์ครองอำนาจมายาวนานกว่า ๓๐ ปี เป็นสองประเทศแรกที่เกิดผลจาก Jasmine Effect  ในช่วงระยะเวลาห่างกันเพียง ๑ เดือนเท่านั้น และประเทศที่อยู่ในคิวความปั่นป่วนระลอกถัดไป เช่น เยเมน , ชาด และ จอร์แดน เป็นต้น ต่างล้วนมีผู้นำที่รองอำนาจต่อเนื่องยาวนานเกินช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทั้งสิ้น

            ประการนี้ คือ ปัจจัย หรือ “เหตุ” พื้นฐานที่สร้างเงื่อนไขให้มีการสั่งสมความไม่พอใจในสภาพการเมือง การบริหาร การปกครองของประเทศ เบื่อหน่ายผู้นำ และเป็นไปโดยหลักจิตวิทยามวลชนพื้นฐานที่ทำให้ผู้คน สังคม มีความต้องการ “การเปลี่ยนแปลง”

ปัจจัยที่ ๒ ปกครองโดยการเผด็จอำนาจ

            ลักษณะทางการเมืองที่เป็นลักษณะร่วมประการหนึ่งของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง แถบนี้ คือ มีการปกครองในลักษณะ เผด็จการ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช้น ปกครองโดยเผด็จการทหาร  เผด็จการโดยรัฐสภา  เผด็จการโดยระบอบกษัตริย์ เป็นต้น

            ลักษณะพื้นฐานของรัฐที่ปกครองโดยเผด็จการยาวนาน มีการริดรอนสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากยิ่งมีการกดขี่ ข่มเหง ผู้ถูกปกครองมากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความโหยหา ประชาธิปไตย มากกขึ้นเท่านั้น และนั่นก็คือ เหตุปัจจัยหนึ่งของ “การเปลี่ยนแปลง”

ปัจจัยที่ ๓ สภาพบ้านเมืองมีปัญหาสะสม โดยเฉพาะความยากจน และการทุจริต คอรัปชั่น

            นอกจากความเป็นเหตุเป็นผลของประเทศที่มีผู้ปกครองเผด็จอำนาจ เป็นรัฐเผด็จการอย่างต่อเนื่องยาวนานย่อมนำประเทศไปสู่ปัญหาสะสมภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน และการทุจริตคอรัปชั่น ดังเห็นได้จาก คำขวัญของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตูนิเซีย คือ “ขนมปัง และ ประชาธิปไตย” และใช้เวลาการเคลื่อนไหวต่อเนื่องอีกรวมทั้งสิ้น ๒๘ วัน ก็สามารถก่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศได้

            ข้อเท็จจริงประการหนึ่งของประเทศที่เป็นแนวที่ได้รับผลสะเทือนต่อเนื่องของ การปฏิวัติดอกมะลิในแถบอาฟริกาเหนือ และบางประเทศในตะวันออกกลาง ที่มีทรัพยากรสำคัญ คือ น้ำมัน หรือเป็นเส้นทางขนส่ง หรือ แนววางท่อน้ำมัน ซึ่งทำให้ มีรายได้ประชาชาติอยู่ในเกณฑ์สูง ก็ตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับมีฐานะยากจน เช่น ในกรณีในแอลจีเรียนั้น กระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายความมั่งคั่งที่ได้จากการขายน้ำมันกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เพราะในทุกวันนี้รายได้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์จากการส่งออกน้ำมันกลับไปกระจุกตัวอยู่ในมือของผู้มีอำนาจทางการเมืองเพียงไม่กี่รายในประเทศ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 35 ล้านคนยังคงทุกข์ยากกับภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองแร้นแค้นต่อไป

            ในกรณีของเยเมนนั้น ถือเป็นประเทศที่ยากจนข้นแค้นที่สุด และพัฒนาน้อยที่สุดในโลกอาหรับ มีอัตราการว่างงานที่สูงลิ่วถึงร้อยละ 65 ของประชากร ซ้ำร้ายยังมีเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะใกล้ล่มสลายจากการที่ น้ำมันทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศกำลังจะหมดไปภายในปี 2017 อีกทั้งชาวเยเมนจำนวนมากยังไม่พอใจการบริหารประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ที่แทบไม่มีผลงานเลยนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาครองอำนาจเมื่อเดือน ต.ค. 1994

            สิ่งที่เป็นความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันเสมอ ก็คือ ปัญหาความยากจน ทุกข์ยาก สะสมของประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา มักจะมีที่มาจากการบริหารประเทศของชนชั้นปกครองที่ไม่โปร่งใส มีการทุจริต คอรัปชั่น

            ไม่เพียงแค่  ตูนีเซีย  เยเมน  และอียิปต์ เท่านั้น แต่ยังเป็นรหัสร่วมในปรากฏการณ์ ดอกมะลิ ในอีกหลายประเทศ



ปัจจัยที่ ๔ มีพลังสะสมของเยาวชน ชนชั้นกลาง และปัญญาชน

            ปัจจัยที่ว่าด้วยการสะสมพลังที่ “ปฏิบัติการ” ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่ดำเนินการอย่างทุ่มเท กล้าหาญ อยู่ในขณะนี้นั้น ได้แก่องค์ประกอบของผู้คน    ส่วน คือ กลุ่มชนชั้นนำ(Elite)ในส่วนที่เป็นปัญญาชนในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการศึกษา ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ เพื่อมากำหนด “วาระ” ในการปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงสังคม ในกรณีของอียิปต์ และตูนีเซีย ชนชั้นนำที่เป็นปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในการชี้นำนั้น ได้แก่ อาจารย์มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน และบุคลากรจากภาคธุรกิจเอกชน ขณะที่ ผู้นำทางศาสนากลุ่มเข้มข้น เช่น กลุ่มภราดรภาพ ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการนำมวลชนต่อสู้ กลับเข้าร่วมช่วงระยะสุดท้าย

            การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน ราชการ ในองค์กรต่างๆ พนักงานในภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการค้าอิสระ รายย่อย รวมทั้งผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ไม่มีงานทำ ต้องเป็นแรงงานแฝงในกิจการของครอบครัวและมีการสั่งสมยาวนาน  ชนชั้นกลางเกือบทั้งหมดนี้ได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศของตนมีปัญหาเศรษฐกิจ ท่วมทับทวี จึงเป็นพลังสะสมของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เติมเชื้อไฟใว้ยาวนานนับสิบๆปี

            นอกจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามสถานการณ์โลกที่แวดล้อมกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่ รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ โดนเฉพาะด้านการสาธารณสุข มีผลให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ผู้สูงวัย เพิ่มขึ้น และที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ ประชากรในช่วงวัยหนุ่มสาว หรือเยาวชนนั่นเอง

            การขยายตัวทั้งในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณของกลุ่มปัญญาชน กลุ่มคนชั้นกลาง และกลุ่ม  เยาวชน เหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังย่างกรายเข้ามา

ปัจจัยที่ ๕ มีประกายไฟ

            เมื่อความพร้อมทางภววิสัย อันประกอบด้วยปัจจัยข้างต้นทั้งหมดลงตัว และประจุแน่นพร้อมรอการระเบิด นั้น การเกิดประกายไฟที่จะจุดติดการระเบิดขึ้นของพลังทางสังคมในประเทศนั้น  ในความหมายนี้ หมายถึง การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ที่มีผลกระทบทางสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนาย Mohamed Bouazizi ในตูนีเซีย หรือ การเชื่อมโยงกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางภววิสัย เช่น ในกรณีอียิปต์ เหล่านี้ล้วนต้องการ ประกายไฟ ที่มีแรงจุดระเบิดปัญหาที่สะสมยาวนาน อย่างเหมาะสม “ถูกที่ ถูกเวลา” จึงจะสามารถ จุดติด หรือ ก่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้

ปัจจัยที่ ๖ เป็นประเทศมุสลิม

            ปัจจัยร่วมประการสุดท้ายนี้  คือ Jasmine Effect นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในตูนิเซีย ลามไปยังอียิปต์ และกำลังส่งผลสะเทือนยังกลุ่มประเทศภูมิภาคอาฟริกาเหนือ ได้แก่ เยเมน ชาด ลีเบีย ฯลฯ และข้ามไปยังตะวันออกกลาง ได้แก่ บาร์เรน  อิหร่าน  จอร์แดน  ซาอุดิ อาระเบีย  อิรัก  และ อาฟริกานิสถาน

            ความเชื่อมโยงของสถานการณ์นี้ คือ การส่งผลสะเทือนต่อเนื่องไปตามประเทศที่นับถือศาสมุสลิมเท่านั้น  คำถามคือทำไมต้องเป็นไปเพียงประเทศมุสลิมเท่านั้น? ทำไม จากอาฟริกาเหนือ ไม่ลุกลามต่อเนื่องไปในพื้นที่อาฟริกาตอนกลาง ทำไมโดดข้ามไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จนถึงอาฟริกานิสถาน ?

            สมมุติฐานที่ ๑ คือ การส่งผลสะเทือนต่อเนื่อง เป็นไปตามลักษณะตามธรรมชาติ คือ ตามความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นสังคมมุสลิม

            สมมุติฐานที่ ๒  คือ มีการแทรกแซง จากงานลับใต้ดินของประเทศมหาอำนาจที่เป็นศัตรูของขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงที่ฝังตัวอยู่ในภูมิภาคนี้ภายใต้การสนับสนุนอย่างลับๆของประเทศเหล่านี้  รวมถึงเหตุผลการทำลายความมั่นคงของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจพลังงาน

            สมมุติฐานที่ ๓ คือ มีการฉวยโอกาส ช่วงชิงดอกผลการต่อสู้ของประชาชน โดยขบวนการมุสลิมหัวรุนแรง ที่พยายามใช้แรงเหวี่ยงจากสถานการณ์ในตูนิซีย อียิปต์ มาสู่ความพยายามในการล้มรัฐบาล ในประเทศตน

            อย่างไรก็ตามแรงเหวี่ยงของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เรียกว่า Jasmine Revolution’s  Effect  ยังคงแสดงผลอย่างต่อเนื่องภูมิภาคดังกล่าวนั้น เท่าที่ผ่านมา กระบวนการเคลื่อนไหวอย่างมีพลังนี้ ใช้เวลา ๒๓ วัน ล้มผู้ปกครองตูนิเซีย และใช้เวลาเหลือเพียง ๑๘ วันก็คว่ำ รัฐบาลอียิปต์ได้ และกำลังก่อหวอดอยู่ในอีกหลายประเทศนั้น สมควรจะถอดบทเรียน องค์ความรู้ ในการต่อสู้ของภาคประชาชน ในลำดับต่อไป

ภาค ๒

ว่าด้วยกลยุทธ

            ข้อสังเกตุที่ ๑ เงื่อนไขภววิสัย และอัตวิสัยพร้อม

            ข้อสังเกตุที่ ๒ ความคิดชี้นำ คือ NSM ; New Social Movement  

            ข้อสังเกตุที่ ๓ กลยุทธ คือ “ไร้กระบวนท่า”

·       ไร้กลยุทธ ; ไร้แบบแผน ไร้ร่องรอย

·       ไร้การนำ ;  การจัดตั้งแนวนอน

·       กำหนด วัน ว. เวลา น. ; Setting  Agenda

·       เคลื่อนไหว ใน ไซเบอร์ สเปซ

·       เชื่อมการเคลื่อนไหวใน ๒ โลก

·       หัวใจ คือ เชื่มโยง และ ถักทอ

·       สู่ความสำเร็จ



.......................................

สงครามวาทกรรม กับ บทบาทสำคัญ ของ “สำนักคิด”


บทความชุด ; พลเมืองอภิวัฒน์  

ธงไท เทอดอิศรา

 สำนักคิดอิสระไท



สงครามวาทกรรม กับ บทบาทสำคัญ ของ “สำนักคิด”

            นานมาแล้ว นับแต่การดำรงอยู่ของมนุษย์ เพื่อความอยู่รอดของชีวิตและเผ่าพันธุ์ ทำให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ก็คือ วิถีแห่งการดำรงอยู่ของผู้คน สังคม การต่อสู้แย่งชิง นำมาซึ่งการแสวงหนทาง หรือ แนวทางการต่อสู้ อย่างมีพัฒนาการ มาตามลำดับ

            มนุษย์ถ้ำครั้งโบราณกาลใช้มัดกล้ามและขวานหินตัดสินความถูกผิด ต่อมาที่นา ที่ไร่ สินค้า เงินทอง ล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการแสวงหาอำนาจ ทุกรูปแบบ  ล่วงมายังยุคปัจจุบัน ที่นวัตกรรมทั้งหลายทั้งปวงกลายเป็นบันได และไม้ค้ำอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูล ข่าวสาร (information  is  Power ) ประสบการณ์ องค์ความรู้ ก็เช่นเดียวกัน

            “วาทกรรม” ในความหมายต่อเนื่องจากองค์ความรู้ ในฐานะของเครื่องมือที่ถูกใช้ในกลเกมแห่งอำนาจในยุคร่วมสมัยนี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ที่ทุกคนควรต้องรู้

วาทกรรมทางการเมือง(Political Discourse) 

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี(2549)ได้อธิบายถึง วาทกรรม (Discourse) ไว้ว่า คือรูปแบบของความคิด หรือกรอบความคิด เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นสถาบันและมีการสืบทอด "ซึ่งแสดงออกผ่านทางการพูดและเขียนอย่างจริงจัง/ประโยคหรือนิยามที่ใช้ บ่อยๆ" เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งลักษณะของวาทกรรม และการปรับเปลี่ยนลักษณะของวาทกรรมนั้น ๆ

            วาทกรรมแต่ละเรื่องมีระบบ ความคิด และเหตุผลของตน ในการอธิบายหรือมอง "ความจริง" ซึ่งวาทกรรมเรื่องเดียวกัน แต่ต่างระบบความคิดและเหตุผลก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ในการให้อรรถาธิบายต่อเรื่องนั้น ๆ ดังนั้นในเรื่องเดียวกันจึงมีวาทกรรมหลายชุดที่เกี่ยวข้องและวาทกรรมแต่ละ ชุดก็มีความขัดแย้ง หรือปฏิเสธ "ความจริง" ของวาทกรรมอีกชุดหนึ่งได้   โดยอานุภาพของวาทกรรมมีขีดความสามารถทั้งในแง่ของการ กดทับ / ปิดกั้น (subjugate) ไม่ให้ความหมาย ค่านิยม ความเชื่อ ตลอดจนสถาบันอื่น ๆ ที่มีลักษณะขัดแย้งต่อวาทกรรมหลักนั้นได้มีโอกาสแสดงออกได้อย่างเปิดเผย นอกจากนี้วาทกรรมยังมีผลลัพท์ทั้งในแง่ของการ แทนที่ หรือทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกับวาทกรรมหลักมีอันต้องเลือนหาย (displace) ซึ่งหากจะกล่าวให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนก็คือ วาทกรรมมีอำนาจในการที่จะทำให้สังคมมีความคิด ความเชื่อหนึ่ง และความคิดความเชื่อดังกล่าวเมื่อได้รับการยอมรับ การปฏิบัติติตามจากภาคส่วนในสังคมแล้ว วาทกรรมนั้นก็จะกลายเป็นวาทกรรมหลักซึ่งอำนาจของวาทกรรมหลักนี้กล่าวอย่าง ง่าย ๆ ก็คือ การกีดกันไม่ให้วาทกรรมอื่นที่เป็นวาทกรรมขัดแข้ง หรือขัดต่อผลประโยชน์ของตนหมดโอกาสในการแสดงออก จนกระทั่งไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในที่สุด

          สงครามวาทกรรมอำพราง

            วาทกรรมการเมือง มิใช่เพียงแค่เรื่องทางวิชาการเมื่อมีการนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มก้อนทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น คำว่า ไพร่ และ อำมาตย์ กลายเป็นวาทกรรมที่กระทบใจคนไทยพอ ๆ กับวาทกรรม รากหญ้า ที่ปรากฏขึ้นเมื่อหลายปีก่อน โดยคำว่า ไพร่ถูกใช้ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 โดยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะสามารถดึงชาวเสื้อแดงออกมารวมตัวได้มากขึ้น โดยหลังจากที่มีการปราศรัยวาทกรรมเกี่ยวกับไพร่บนเวทีชาวเสื้อแดง จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตแกนนำนักศึกษาและเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า "สหายแพง" หรือ "สหายแผ้ว" ได้กล่าวว่าวาทกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่พรรคคอมมิมนิสต์แห่งประเทศ ไทย(พคท.)พยายามอธิบายมา 40 กว่าปี

            แต่ถึงกระนั้นเจมส์ ไคลน์ จาก-เอเชีย ฟาวน์เดชั่น ก็ได้อธิบายไว้ว่า พวกเสื้อแดงยังขาดอุดมการณ์ พวกเขาอาจมีข้อความบนสติ๊กเกอร์ติดท้ายรถสวยๆ มากมายแต่พวกเขาก็จำเป็นต้องหาคำจำกัดความว่า คำขวัญเหล่านั้นมีความหมายถึงอะไรกันแน่

            วาทกรรม “แดงทั้งแผ่นดิน” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นอีกหนึ่งวาทะประดิษฐ์ที่ทรงอานุภาพของกลุ่มนิยมทักษิณ จริงอยู่ว่าวาทกรรมดังกล่าวอาจมิได้แฝงเร้นอุดมการณ์ทางการเมืองอันลึกซึ้งเข้าไว้ในกลุ่มคำเช่นเดียวกับคำว่า “ไพร่” และ “อำมาตย์” แต่คำว่า “แดงทั้งแผ่นดิน” ก็เปรียบได้กับ “ธงรบ” ที่ถูกชูเชิดนำมวลชนคนเสื้อแดงประกาศศักดาไปทั่ว เป็นวาทกรรมที่หลอกหลอนฝ่ายตรงข้ามให้เกิดอาการถอดใจ เพราะวาทกรรมดังกล่าวได้กระตุ้นให้มวลชนและแนวร่วมของคนเสื้อแดงต่างพากันออกมาเดินตามท้องถนนหรืออย่างน้อยก็กล้าที่จะแสดงตัวอย่างมาเปิดเผย

            ขณะที่พลังมวลชนของคนเสื้อแดงกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว วาทกรรมของฝ่ายตรงข้ามก็ปรากฏตัวขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งความร้อนแรงดังกล่าวซึ่งก็คือ “เสื้อหลากสี” เพียงแต่คำว่า “เสื้อหลากสี” มิได้มีความหมายทางวาทกรรมชัดเจนเช่นเดียวกับคำว่า “แดงทั้งแผ่นดิน” แต่ก็มีลักษณะดุจเดียวกันในฐานะของ “ธงรบ” เป็นกองกำลังมวลชนที่ออกมา “ตัดหลัง” สร้างความพะวักพะวง บั่นทอนอานุภาพของยุทธการแดงทั้งแผ่นดิน ที่ก่อนหน้านั้นได้ดำเนินยุทธวิธีกวาดต้อนฝ่ายตรงข้ามให้เข้ามารวมอยู่ในที่เดียว

            และแล้ววาทกรรมที่ดูเหมือนว่าจะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของ “แดงทั้งแผ่นดิน” ได้อย่างชะงักงันก็คือ “ทักษิณ ประธานาธิบดีรัฐไทยใหม่” ซึ่งไม่ทราบว่าฝ่ายใดเป็นผู้คิดค้นวาทกรรมดังกล่าวขึ้น หากเป็นฝ่ายทักษิณที่มุ่งหวังจะโยนหินถามทาง ก็นับเป็นความผิดพลาดมหันต์ แต่หากกลับกันเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ต้องถือว่า เป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้กระแสการเติบโตของคนเสื้อแดงต้องหยุดชะงักลงอย่างทันท่วงที เพราะหลังจากวาทกรรมดังกล่าวปรากฏแก่สาธารณะ การขยายตัวของมวลชนคนเสื้อแดงก็หยุดการเจริญเติบโตในเชิงปริมาณ คงเหลือแต่มวลชนที่มีลักษณะ “ฮาร์ดคอร์” เป็นหลัก

            นอกจากวาทกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีวาทกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจเช่น “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” , “สองมาตราฐาน” และ  “สงครามชนชั้น” ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้ล้วนถูกสร้างเรื่องราวและขยายผลผ่านการปฏิบัติการวาทกรรมอย่างแพร่หลายในกลุ่มความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้

            สำหรับวาทกรรมในทางการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่สมควรให้ความสนใจและกล่าวถึงมากที่สุดก็คือคำว่า “ประชาธิปไตย” นั่นเอง

            ซึ่งเมื่อพิจารณากันอย่างถ่องแท้ ก็จะพบว่าสังคมไทยได้ถูกครอบงำโดยวาทกรรมหลักว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งตัวแทนไปบริหารประเทศเท่านั้น

            วาทกรรมหลักที่ว่านี้ได้ถูกสร้าง และถ่ายทอด ด้วยการใช้อำนาจทั้งขู่และปลอบ ทั้งตบหัวและลูบหลัง ซึ่งเป็นความเห็นของหลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) นักคิดคนสำคัญของแนวคิดโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม ที่กล่าวไว้ว่า รัฐมีการใช้ทั้ง กลไกความรุนแรงและกลไกอุดมการณ์

            โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรัฐไทยก็คือ การใช้อำนาจเชิงบังคับ ขู่เข็ญ ให้สังคมกลัวและเชื่อถือในเรื่องของการเลือกตั้ง ผ่านบทบัญญัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง มีการระบุในกฎหมายให้คนไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิทางการเมืองบางประการ

            ส่วนกลไกอุดมการณ์ ก็ล้วนเป็นการสร้างการยอมรับกับชุดความจริงเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ผ่านแบบแผนของสถาบันทางวัฒนธรรมหลายอย่าง ทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันสื่อสารมวลชน กระทั่งแม้แต่การนำเอาวาทกรรมหลักเกี่ยวกับประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ไปถ่ายทอดอย่างลงรากลึกจนถึง เด็กประถม ไม่เว้นแม้แต่ระดับเด็กอนุบาล ดังเช่นการเลือกตั้งหัวหน้าห้อง เลือกตั้งประธานนักเรียน ซึ่งหากมองกันอย่างเผิน ๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งดี ที่ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ในวิธีการอันเป็นประชาธิปไตย แต่ก็น่าเสียดายว่าผลลัพท์จากการเลือกตั้งอันได้แก่ตัวแทนนักเรียนเหล่านั้น เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตการเป็นนักเรียนอันเป็นมิติหนึ่งในชีวิตวัยเด็กของเขาแต่อย่างใดไม่

            ในขณะที่สังคมไทยได้รับบทเรียนจากการลองผิดลองถูกกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยยังไม่อาจก้าวขามวาทกรรม “ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง” ไปได้ โดยสังเกตได้จากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มทุนใหม่กับทุนเก่าที่ต่างฝ่ายต่างเพียรสร้างวาทกรรมขึ้นมาเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม โดยที่แต่ละฝ่ายต่างสร้างวาทกรรม มาสนับสนุนความชอบธรรมในการรุกทางการเมือง แต่ประชาธิปไตยในเนื้อหา กลับถูกละเลยทอดทิ้งและไม่ยอมเดินไปสู่หนทางดังกล่าวสักเท่าใดนัก

กลุ่มทุนใหม่ภายใต้การนำของทักษิณที่ได้อำนาจภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ผูกขาด มีวาทกรรมหลักเรื่อง "ประชาธิปไตยแบบตัวแทน" ซึ่งก็สามารถนำมาใช้ในการสร้างความชอบธรรมได้ เพราะในรูปแบบแล้วมีความสมบูรณ์ในระบบการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองและทำงานผ่านกลไกรัฐธรรมนูญของตน


            เหตุผลที่กลุ่มอำนาจใหม่บริหารงานด้านเศรษฐกิจได้อย่างถึงอกถึงใจประชาชนชาวรากหญ้า เป็นเพราะมีขีดความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการของประชาชนในแนวการตลาด รวมทั้งมียุทธศาสตร์ให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมบนแนวคิด "ประชานิยม" ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

          เมื่อประชาธิปไตยแบบตัวแทน คือความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ ขณะที่การเมืองการเลือกตั้งแบบไทย ๆ ที่ต้องอาศัยหัวคะแนนและระบบฐานคะแนนเสียง ก็ได้นำไปสู่การสร้างระบบอุปถัมภ์ภายใต้ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรค  จนกระทั่งชาวชนบท รากหญ้าได้ซึมซับและรับเอาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทนอย่างฝั่งแน่นในความคิด และการซื้อเสียงเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ถูกแทนที่ด้วยการซื้อใจระยะยาวผ่านนโยบายประชานิยมนั่นเอง

            ส่วนวาทกรรม"ประชาธิปไตยในเนื้อหา” ที่กลุ่มอำนาจเดิมและพันธมิตร ใช้เป็นความชอบธรรมในการต่อต้านกลุ่มทักษิณ โดยมีกรณี "การทุจริต" ซึ่งเป็นหมัดเด็ดที่สามารถเรียกประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมได้เป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม กลไกหลักที่ถูกนำมาใช้ในการขับไล่กลุ่มเดิมกลับเป็นกองทัพ ที่ถูกนำเข้ามายึดอำนาจการปกครอง อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการยึดอำนาจที่กลายเป็นความชอบธรรมก็เพราะมีการต่อสู้ผ่านวาทกรรมเรื่อง "คอรัปชั่นและเหตุผลอีก 3 ประการ" มาก่อนหน้าแล้ว

            แม้ในที่สุดฝ่ายที่ใช้วาทกรรมประชาธิปไตยในเนื้อหาจะเป็นผู้ครองอำนาจรัฐ แต่ก็หาได้มีความพยายามใด ๆ แสดงให้เห็นว่าต้องการสร้างประชาธิปไตยโดยเนื้อหาให้บรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ดังกล่าวไม่ เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ส่วนหนึ่งจนกระทั่งคนเสื้อแดงนำไปสร้างวาทกรรม “อมาตย์” อย่างได้ผลในระดับหนึ่งนั้น เป็นเพราะวิธีคิดแบบทฤษฎีชนชั้นนำ (Elite Theory) มักจะมองว่าประชาชนยังโง่เขลาเบาปัญญา ต้องให้กลุ่มชนชั้นนำที่มีชาติตระกูลดี มีความรู้ และซื่อสัตย์สุจริตมาปกครองบ้านเมือง ซึ่งโดยสรุปมีความเลวร้ายไม่แตกต่างไปจากบรรดานักการเมืองในสังกัดกลุ่มทุนใหม่(ที่เพิ่งตกจากเก้าอี้อำนาจไปไม่นาน)เท่าใดนัก

จากอดีตที่ผ่านมาแนวทางการให้ความหมายแก่วาทกรรมทางการเมือง (political discourse) ในสังคมไทยนั้นมีสำนักคิดอยู่ ๒ กระแสหลัก คือ สำนักประเพณี และสำนักตะวันตก ทั้งสองแนวคิดได้ให้ความสำคัญ / สนใจในกิจกรรมของการสื่อสารความหมายทางภาษา การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและกลไกในการควบคุมระบบการสื่อความหมายดัง กล่าว ซึ่งทั้งสองกลุ่มดังกล่าวข้างต้นนั้นมีความคิดที่ตรงข้ามกัน และทั้งสองแนวคิดก็ได้พยายามต่อสู้ ช่วงชิง เพื่อทำให้วาทกรรมเกี่ยวกับการเมือง / ประชาธิปไตยของตนเป็นที่ยอมรับในสังคม เพื่อให้วาทกรรมตามแนวคิดของตนมีอำนาจในสังคม และได้รับการพัฒนาเป็นสถาบันต่อไป ทำไมทั้งสองกระแสดังกล่าวจึงพยามผลักดันให้วาทกรรมทางการเมืองของตนให้มี อำนาจทางความคิด และมีความเป็นสถาบันทางสังคม เราอาจกล่าวได้ว่าที่กระแสทั้งสองกระแสต้องการอย่างนั้นก็เพราะ เมื่อวาทกรรมทางการเมืองในกระแสของตนมีความเป็นสถาบัน จะทำให้การพูด เขียนอย่างจริงจัง การกล่าวถึงประชาธิปไตย การปฏิบัติการทางการเมือง ต่าง ๆ ดำเนินไปได้อย่างมีความสมเหตุสมผลและน่าเชื่อถือ

โดยข้อเท็จจริงแล้ววาทกรรมทางการเมืองก็ไม่ใช่สิ่งผิดเสมอไป แต่การจะสร้างวาทกรรมใด ๆ ควรคำนึงถึงประโยชน์และอุดมการณ์อันแท้จริงของวาทกรรมนั้นๆ โดยนายแพทย์ ประเวศ วะสี เคยกล่าวถึงวาทกรรมทางการเมืองไว้ว่า  การพูดไม่เป็น ทำให้ขัดข้อง ขัดแย้ง ที่ไม่ควรมีเรื่องก็กลายเป็นมีเรื่อง ที่มีเรื่องก็กลายเป็นรุนแรง สิ่งที่ควรแก้ปัญหาได้ก็แก้ไม่ได้ และสามารถก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาได้ การพูดอย่างถูกต้องถือเป็นเรื่องสำคัญมาก วาทกรรมทางการเมืองก็ควรปรับเปลี่ยนจากมิจฉาวาจาไปสู่สัมมาวาจาให้มากขึ้น

วาทกรรม จึงเป็นดั่งมีด ที่ใช้เป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ก็ได้ หรือจะใช้เป็นศาสตราวุธ ก็ย่อมได้เช่นกัน.

สำนักคิด (School  of  method)

สำนักคิด มีความหมายทั้ง ในฐานะที่เป็นทั้งแหล่งที่มาทางความคิดของนักคิด นักวิชาการ หรือ เป็นการจัดแบ่งหมวดหมู่ ปริมณฑล พื้นที่ทางความคิดของนักคิด นักวิชาการ ที่ได้นำเสนอต่อสังคม สาธารณะ หรือ การกำหนดกลุ่มก้อนทางความคิด โดยพิจารณาถึงแหล่งที่มาทางความคิดก็ตาม ย่อมเป็นความหมายทั่วไปในทางวิชาการ หรือหลักการที่มีการศึกษากันมาแต่ก่อนเก่า เท่านั้น

แต่ “สำนักคิด” ที่จะนำเสนอในที่นี้  มีนัยทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางสังคมอย่างตรงไปตรงมา

สำนักคิด คือ แหล่งผลิตวาทกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม เพื่อตอบโต้วาทกรรมทางการเมืองที่มุ่งหวังบั่นทอน สลาย หรือทำลายความมั่นคงของสังคม ประเทศไทย โดยการ ชี้แจง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการรุกทางการเมือง ตีโต้ สร้างความสับสน บั่นทอน สลายคุณค่าทางความคิด หรือวาทกรรมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม

คือ ความหมายของ สำนักคิดในทางยุทธศาสตร์ หรือ  สำนักคิดเพื่อความมั่นคงทางสังคม นั่นเอง

สำนักคิดในสังคมไทย

ความคิด ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยแต่โบราณ ได้แก่ ความคิด ความเชื่อทางวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีพื้นฐานมาจากศาสนา โดยเฉพาะศาสนาฮินดู(ผ่านพิธีกรรมต่างๆที่ดำเนินการโดยพราห์ม) พุทธ และความเชื่อท้องถิ่น  สำนักคิดอย่างไม่เป็นทางการ แต่ทำหน้าที่ บทบาทนี้ในสังคมไทยโบราณจึงเป็นส่วนของ ราชสำนัก ที่มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางการปกครอง และ วัด ที่ทำหน้าที่ทางสังคมในพื้นที่นอกศูนย์กลางของอำนาจทางการปกครอง

จนเมื่อสังคมไทยปรับตัวในระยะสองร้อยปีหลังนี้ เมื่อมีอารยธรรมใหม่จากตะวันตกรุกคืบเข้ามา สถาบันการศีกษาสมัยใหม่ได้ก้าวเข้ามาแบกรับภารกิจนี้ โดยจับช่วงระยะนับแต่มีการปฏิรูปการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ราชสำนักแบบโบราณได้ปรับตัว และผ่องถ่ายบทบาท สำนักคิด ไปยังสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรทางการเมือง การปกครอง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งมีความคิด ทิศทางไปในทางเดียวกัน คือ สนับสนุนผู้ปกครอง อำนาจรัฐ

ส่วนสำนักคิดที่ ๓ ที่มีความคิด ทิศทาง ตรงกันข้าม และเป็นปฏิปักษ์กับ อำนาจรัฐ ก็คือ พคท. หรือ พรรคคอมมิวนิสตร์แห่งประเทศไทย นั่นเอง

สำหรับ การรวมตัวกันของปัญญาชนอิสระ ข่าราชการ ชนชั้นนำ(elite)กลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยรวมตัวในต่างประเทศ เพื่อก่อการอันเป็นภารกิจเฉพาะกิจ เฉพาะหน้า ในนามคณะราษฏร จึงยังไม่จัดกลุ่มเป็นสำนักคิดอย่างชัดเจน  จนเมื่อสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางความคิดสังคมไทยได้ท่าที่ควรจะเป็น แกนนำคณะราษฏร คือ นายปรีดี  พนมยงค์ จึงริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตบุคลากรป้อนระบอบประชาธิปไตยไทย คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง(มธก.)

จากช่วงระยะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา สำนักคิดทั้งสี่แห่งก็แข่งกันผลิตบุคลากรป้อนระบบ กลไก ของตนเอง ไม่ว่า ส่วนราชการสายปกครอง  กองทัพ และขบวนปฏิวัติ

ในการนี้ส่วนที่ผลิตวาทกรรมที่ต่อสู้และขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นคือ สำนักคิดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักคิดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง โดยโปรโมทเจ้านาย และคณะราษฏร์  อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น นักคิดร่วมสมัยในยุคนั้น ยังถ่ายเทไปมาของ 2 ฟากคือ ฟากอนุรักษ์นิยม คือสำนักคิดจุฬาฯ และสำนักคิด จปร. ก็ได้อาศัยพึ่งพาทางวิชาการและครูบาอาจารย์มาโดยตลอด ส่วนอีกฟากหนึ่ง เป็นฝ่ายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง เป็นส่วนที่ก้าวล้ำไปข้างหน้ายิ่งกว่าฝ่ายแรก อีกฟากหนึ่งในสถานการณ์นั้น  บุคคลที่สำคัญก็ถ่ายเทกันไปมา

ฝ่ายเฉพาะฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นับแต่ช่วง 2475 เป็นต้นมา ยังมีสำนักคิดในเชิงอุดมการณ์อีกหลายส่วนที่ก่อรูปในเชิงนิตินัย โดยเรียกรวมกันว่า เป็นนักคิดและสำนักคิดในภาคส่วนประชาสังคมไทย (Civil society) ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในยุคปัจจุบัน โดยการศึกษาวิจัยของเชษฐา ทรัพย์เย็น นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดหมวดหมู่ทางความคิดในภาคประชาสังคมไทย ได้ 4 สำนักคิด ดังนี้

1.          สำนักศาสนวิถีนำเสนอความคิดประชาสังคม บนพื้นฐานความโดดเด่นของหลักธรรมทางศาสนาเป็นฐานคิดหลัก มีนักคิดสำคัญได้แก่

·       ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี

·       พิทยา ว่องกุล

·       ชัยอนันต์  สมุทวณิช

      แนวคิดของทั้ง 3 ท่านอยู่บนพื้นความคิดของศาสนาพุทธเป็นแกนหลักโดยประยุกต์หลักการศาสนาเข้ากับวิธีการมองปัญหาทางสังคม และนำเสนอสู่แนวทางแก้ไขตามแต่ละคนเห็นสมควร

2.          สำนักชุมชนวิถี

สาระสำคัญ คือความคิดบนพื้นฐานของสายความคิดหลักในการให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชน มีความเชื่อร่วมกันว่า ชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของมนุษย์และเป็นรากฐานการพัฒนาที่แท้จริงโดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มย่อยคือ

2.1  กลุ่มวัฒนธรรมชุมชนได้แก่

·       ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ให้ความสำคัญกับ แนวคิดสังคมนิยมแบบอนาธิปัตย์)ปฏิเสธการเชื่อมโยงกับรัฐ เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนหมู่บ้าน มุ่งรักษาวัฒนธรรมชุมชนหมู่บ้าน

·       เสน่ห์ จามริก มีแนวคิดยกชูคุณค่าวัฒนธรรมความคิดของชุมชนมีฐานคิดในการพัฒนาชุมชน 4 ฐานหลัก คือฐานคิดด้านเศรษฐกิจ ฐานคิดด้านชุมชน ฐานคิดด้านปัญญา และฐานคิดด้านสิ่งแวดแวดล้อม โดยมีปฎิสัมพันธ์ในทางสร้างสรรค์ต่อกัน

·       อานันท์ กาญจนพันธุ์ เป็นกรอบแนวคิดชุมชน และวัฒนธรรมของสังคมวิทยาซึ่งมองวัฒนธรรมชุมชนมีความหลากกลาย และแตกต่าง

2.2  กลุ่มเศรษฐกิจชุมชน

มีพื้นฐานทัศนะว่าการที่จะสร้างให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนประการสำคัญที่สุดต้องทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก มีลัทธิสำคัญคือ

·       โสภณ สุภาพงศ์ มีพื้นฐานความคิด การพัฒนาชุมชนบนฐานเศรษฐกิจพึ่งตนเอง

·       ณรงค์ เพชรประเสริฐ แนวคิดหลักกรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เน้นชุมชน ตามแนวคิดและรูปแบบชุมชน สังคมนิยม

2.3  กลุ่มชุมชนแบบองค์รวม

·       เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ มีพื้นความคิดว่าชุมชนมีความเชื่อมโยงกับสังคมอย่างแยกไม่ออกตามแบบวิธีคิดแบบองค์รวม

3.          สำนักสากลวิถี เป็นนักคิดที่มีรากฐานจากแนวคิดทฤษฎีแนวตะวันตก อาทิ

·       อเนก  เหล่าธรรมทัศน์ ยึดถือแนวคิดสาธารณนิยมที่เน้นบทบาทของพลเมืองรวมทั้งแนวคิดพหุนิยมแบบอังกฤษและคืนอำนาจการจัดการกิจสาธารณ และทรัพยากรแก่ประชาสังคมมากขึ้น

·       ธีรายุทธ  บุญมี มีฐานคิดประชาคมเสรีนิยมแบบตะวันตก

·       ชัยรัตน์  เจริญศิลป์โอฬาร มีแนวคิดเรื่องวาทะกรรม และกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่

4.          สำนักประสบการณ์วิถี มีความคิดหลักจากประการณ์ที่ปฏิบัติ

·       อนุชาติ  พวงสำลี

·       โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์

เหล่านี้ล้วนเป็นสำนักคิดในภาคประชาสังคมในวาระร่วมสมัยที่ศึกษา และจัดแบ่งโดยนักวิชาการจากธรรมศาสตร์ ในความเป็นจริงการขับเคลื่อนทางสังคมยังมีนักคิด และสำนักคิดที่ผลิตวาทะกรรมในเชิงยุทธศาสตร์การเมือง ในสังคมไทยที่แหลมคมและสัมพันธ์กับประเด็นปัญหาความมั่นคงในยุคปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกมาก

สำนักคิดร่วมสมัย

            ในระยะร่วมสมัยหากนับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสำนักคิดหลักที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นที่สุดคือ ขบวนปฎิวัตที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ดำเนินการต่อสู้ทางการเมือง และทำสงครามเพื่อยึดอำนาจรัฐ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐอย่างถอนรากถอนโคน มาเป็นระยะเวลายาวนาน กว่า 68 ปี ในระหว่างการต่อสู้ของกระบวนการนี้ มีการแตกตัวทางความคิดที่สำคัญอยู่ 3 ระยะ

 หนึ่งระยะบุกเบิกพรรค และหัวเลี้ยวหัวต่อ ในการเลือกแนวทางการต่อสู้ที่ต้องการใช้ความรุนแรง ในการทำสงครามตามแนวทางของคอมมิวนิสต์ ในทางสากลมีศูนย์กลางพรรคเป็นแกนนำ ได้เสนอวาทกรรมที่สำคัญคือ  อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน  กับนักคิดนักปฏิวัตรุ่นอาวุโสที่เห็นต่างสำนักคิด ผู้อาวุโสคือ นายประเสริฐ  ทรัพย์สุนทร ซึ่งแยกตัวออกมาจาก พคท. และมาใกล้ชิดสัมพันธ์กับฝ่ายความมั่นคงในยุคที่ผ่านมาพร้อมเสนอวาทะกรรมเกี่ยวกับลัทธิประชาธิปไตย ที่เชื่อว่าประเทศยังต้องการ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยการมีการขยายความคิดในการเปลี่ยนผ่านอย่างสันตินี้ ไปยังกลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่าทหารประชาธิปไตย ซึ่งภายหลังมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันยุทธศาสตร์การเมืองการทหารและคำสั่งสำนักนายกที่ 66/23 อันมี พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ์ เป็นแกนนำสำคัญทางความคิด เรียกได้ว่า วาทะกรรมเรื่องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของสำนักซอยศาสนา ที่มี อาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นศาสดาอยู่นั้น ได้ซึมทราบไปยังนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากทั้งในวงการทหารตำรวจ (สายพิราบ) นักการเมืองในสภา  สายกรรมกร สายสื่อมวลชน รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดว่า วาทะกรรมจากสำนักซอยศาสนา เป็นชุดความคิดหลัก ชุดหนึ่งที่ปรากฏบนเวทีของขบวนการเสื้อแดงในระยะที่ผ่านมา

            ส่วนที่สอง คือการแตกตัวออกจากศูนย์กลางพรรคของ ผิน บัวอ่อน หรือ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ อดีตกรรมการกลาง พคท. ที่เห็นต่างเรื่องแนวทางการต่อสู้แบบชนบทล้อมเมือง กับการลุกขึ้นสู้ในเมือง ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และสามการแตกตัวครั้งหลังสุดที่เป็นปรากฏการยืดเยื้อ มาจากการขัดแย้งทางความคิด ระหว่างแกนนำ พคท. กับแกนนำนักศึกษาที่เข้าป่า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีความขัดแย้งหลายระลอก ที่ศูนย์กลางพรรคที่แนวหลังและเขตแนวหน้าหลายพื้นที่ โดยมีจุดปะทะใหญ่ที่เขตฐานที่มั่นจังหวัดตาก ฝ่ายนักศึกษานำโดย เสกสรร  ประเสริฐกุล กับแกนนำพรรคในพื้นที่อันเกี่ยวเนื่องไปถึงการประชุมสมัชชาสี่ของพรรคที่บ่มปัญหาความแย้งด้านความคิด และแนวทางการต่อสู้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์สังคมไทยระหว่างแกนนำของ พคท. ในภาคอีสานกับศูนย์กลางของ พคท. และผู้สนับสนุนที่เป็นแกนนำในภาคอื่น แม้การลงมติกลุ่มศูนย์กลางของพรรคจะได้รับชัยชนะ ต่อแกนนำภาคที่สามอย่างเฉียดฉิว โดยมีข้อกังขาในเรื่องระเบียบการประชุมเกี่ยวกับการนับหน่วยการนำที่สามารถเข้าไปจนได้ ซึ่งยังเป็นที่กังขาของแกนนำสามจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงความขัดแย้งดังกล่าว (ประมาณปี 2523-2524) แม้การประชุมสมัชชาสี่จะยุติลงด้วยชัยชนะของศูนย์กลาง แต่สถานการณ์การขัดแย้งทางความคิดดังกล่าว ยังเก็บซ่อนเงื่อนงำมาโดยตลอด เพราะมีเงื่อนไขเฉพาะหน้าในการรุกทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร และคำสั่งที่ 66/23 ในความสุกงอมทางความขัดแย้งทางความคิดของขบวนนักศึกษากับ พคท. จึงทำให้เกิดวิกฤติการณ์ ป่าแตกนักศึกษาทิ้งป่ากลับสู่เมืองผู้ปฏิบัติงานและมวลชนของ พคท. ทิ้งฐานที่มั่น และเขตจรยุทธ์กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.)

จากวันนี้ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่สงครามปฎิวัตล่มสลาย และ พคท. เองต้องกบดาน ซุ่มซ่อนยาวนานจนเริ่มออกมาแสดงบทบาท ในช่วงระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา โดยการเคลื่อนไหวต่อสาธารณะของแกนนำระดับสูงคือ ธง  แจ่มศรี  และบทบาทผู้อยู่เบื้องหลังของ ธิดา  ถาวรเศรษศ์ (ภรรยาหมอเหวง  โตจิราการ ซึงมีบทบาทในการเป็นนักทฤษฎีที่คิดค้นและผลิตชุดความคิด ของ พคท. ในฐานะกรรมการกลางสำรอง) ทั้งสองมีบทบาทและความเคลื่อนไหวสำคัญ ในการเชื่อมโยงชุดความคิดสำคัญของ พคท. เข้ากับขบวนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในระยะที่ผ่านมา

ในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของ พคท. คือแกนนำอีสานของ พคท. ทีมีความเห็นขัดแย้งกว่า 30 ปี นำแต่สมัชชาสี่ นำโดย วินัย  เพิ่มพูนทรัพย์ หรือ ส.ชิต ได้แสดงตัวทางความคิดที่เห็นต่างกับ ลุงธงและ คุณธิดา อย่างชัดเจน โดยดำรงความขัดแย้งทางความคิดในการวิเคราะห์สังคมไทย ต่อเนื่องมาจากเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว และมีความเห็นสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

            จากการถือหางและเป็นผู้สนับสนุนชุดความคิด และวาทะกรรมในทางการเมืองต่อสองขั้วความขัดแย้งในสังคมไทย ทำให้ความขัดแย้งที่เริ่มต้นจากรณี ของอดีตนายกทักษัณ  ชินวัตร ยกระดับพัฒนาและขยายวงเป็นความขัดแย้งทางความคิด ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐทั้งยังพุ่งเป้า อย่างแหลมคมไปยัง สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

            กล่าวโดยสรุป แม้ว่าสำนักคิดในวงวิชาการจะจำกัดวง มองเห็นแต่นักคิดในภาคส่วนประชาสังคม และนักวิชาการเป็นหลักใหญ่ก็ตาม แต่ความขัดแย้งที่ทำให้สังคมไทยใกล้แตกดับ และกระทบกับความมั่นคง อย่างหนักหน่วงรุนแรงที่สุดในประวิติศาสตร์ ก็เป็นผลมาจากชุดความคิดของอดีตนักคิด นักปฏิวัติจากสำนัก พคท. ทั้งสิ้นจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการทำความเข้าใจ และกำหนดท่าที บทบาท มาตรการ ของฝ่ายความมั่นคงในทางสังคมที่จะเข้าประคับประคองสถานการณ์ที่ลุกลามและแหลมคมยิ่งขึ้นนี้ อย่างเร่งด่วน โดยเข้าใจสถานภาพของสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า เป็นสงครามวาทะกรรม และมีความจำเป็นที่ต้องมีการจัดตั้งสำนักคิดในทางยุทธศาสตร์ เพื่อผลิตวาทะกรรมทางการเมือง เพื่อรักษาดุลยภาพของสังคมไทยเอาไว้ให้ได้.

ธงไท เทอดอิศรา ; สำนักคิดอิสระไท

.............................................................