วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ขบวนการประชาสังคมเข้มข้น ; ทางออกฝ่าวิกฤติสังคม ชุมชน ท้องถิ่น


ข้อเสนอต่อเพื่อนมิตร ;

สำนักคิดอิสระไท

ธงไท เทอดอิศรา

 
ขบวนการประชาสังคมเข้มข้น ; ทางออกฝ่าวิกฤติสังคม ชุมชน ท้องถิ่น


๑. สถานภาพของสถานการณ์

               สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ มิใช่สถานการณ์ปกติ หรือเพียงแค่มีปัญหาความขัดแย้งแตกแยกกันโดยปกติ แต่เป็นสถานการณ์ในขั้น วิกฤติ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงขั้นที่อาจนำพาสู่ความหายนะ ล่มสลาย ในช่วงชีวิตของเรานี้ก็เป็นได้

         นั่นคือการแตกแยกทางความคิดของผู้คนที่ต่อสู้ทางความคิด ทางการเมืองกันตั้งแต่ระดับขบวนการ ลงสู่หน่วยงาน เครือข่าย องค์กร หรือการจัดตั้งทั้งปวงที่แต่ละคนสังกัด และไหลลึกลงไปยังหน่วยทางสังคมพื้นฐาน บ้าน วัด โรงเรียน ท้องถิ่น ชุมชน จนถึงบ้าน ครัวเรือน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

               เนื้อหาการขัดแย้งแตกแยกทางความคิดครั้งนี้ก็มีความแหลมคม ลุ่มลึก จากประเด็นเอา/ไม่เอาทักษิณ นำสู้ประเด็นเชิงสัญลักษณ์เหลือง แดง และสารพัดสี ก่อนที่จะไปตกตะกอนกันที่ระบอบการปกครองทางการเมืองว่าแบบไหนเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

               การต่อสู้ทางความคิดการเมืองนี้ มีการขับเคี่ยวเกี่ยวข้อง ต้องประเมิน ตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ สถาบันทางการเมืองทั้งระบบ ไม่ว่า อำนาจบริหาร คือ รัฐบาล และระบบราชการ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ รวมทั้งองค์กรอิสระที่ทรงอำนาจต่างๆก็โดนตรวจสอบครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน และ ลุกลามขยายวงถึงการสำรวจ ตรวจสอบบทบาท และสถานภาพของสถาบันทางสังคมที่เป็นแก่นหลักของสังคมไทยยาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ซึ่งเป็นสภาวการณ์ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

               ความเสี่ยงต่อความหายนะ ล่มสลายของสังคมไทยในภาวการณ์เช่นนี้ ก็เนื่องด้วยกระแสระลอกคลื่นของความขัดแย้งทางความคิดนี้  ถาโถมโรมรันพันตูกับคู่ความขัดแย้งของตนอย่างเมามัน ไร้ทิศทาง ไร้กระบวนการ ทำทุกอย่างที่จะทำลาย สร้างความเสียหาย หรือบั่นทอนคู่ต่อกรของตนได้เท่านั้นเป็นพอ และทวีความเข้มข้น ดุเดือดแหลมคมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ลุกลามขยายวงจากการต่อสู้ทางความคิดการเมืองในที่ตั้ง ลงสู่ท้องถนน เคลือบปนความรุนแรงในการชุมนุมมวลชน ยกระดับสู่การลอบสังหาร การก่อวินาศกรรม และมีความพยายามของบางส่วนซีกที่ตระเตรียมการสู่การก่อสงครามกลางเมืองครั้งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปในประเทศชาติ และสังคมที่เคยรู้ซึ้งถึงความบอบช้ำจากภาวะสงครามกลางเมืองครั้งก่อนมาได้ไม่เกินช่วงชีวิตคน บาดแผลและความทรงจำยังไม่ทันจางหาย

            และนี่คือสถานภาพแห่งสถานการณ์ปัจจุบันที่เราต้องร่วมกันฟันฝ่า.


๒. การเมืองภาคพลเมือง ; สำรวจพรหมแดนการต่อสู้ของขบวนการประชาสังคมเข้มข้น

               ในความหมายของการเมืองภาคพลเมืองที่เสมือนดั่งแกนกลางของเนื้อหาแห่งการขับเคลื่อนของขบวนประชาสังคมเข้มข้นนั้นมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้


·      นิยามความหมาย การเมืองภาคพลเมือง


            ก่อนอื่นทำความเข้าใจร่วมกันในมิติความหมายของการเมืองภาคพลเมืองในเบื้องต้น ดังนี้

               พื้นฐานการทำความเข้าใจในเรื่องการเมือง ต้องเข้าใจในสองด้านที่สัมพันธ์กัน คือ ส่วนที่เป็นรากฐานของการเมืองก็คือเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเสรีภาพของบุคคล  ซึ่งเปรียบเสมือนงานลงเสาเข็ม เทปูน และ ส่วนที่เป็นตัวบ้าน ก็คือ เรื่องของการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการบริหารปกครองภายใต้รัฐนั้น

               การเมืองที่ประชาชน หรือ พลเมือง(ประชาชนผู้มีสำนึกในทางสังคมหรือร่วมกันด้วยสำนึกสาธารณะ) สามารถใช้อำนาจสูงสุดได้โดยตรงเท่าที่ศึกษากันมา  คงเป็นการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) ในยุคนครรัฐเอเธนส์ ราว ปี ๕๐๘-๕๐๗ ก่อนคริสตกาล จนถึงราวปี ๓๒๑ ก่อนคริสตกาล ใช้เวลาทั้งสิ้นราว ๒๐๐ ปี ในการปกครองนครรัฐเอเธนส์ที่มีประชากรราว ๔๐,๐๐๐ คน ในรูปแบบการปกครองที่ให้พลเมืองมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ผ่านสภาประชาชนที่ใช้วิธีจับสลากให้พลเมืองที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าร่วมประชุมโดยถ้วนหน้า เพื่อพิจารณากิจการสาธารณะด้วยตนเอง[1]

               หากพิจารณาเนื้อหาสำคัญที่มักกล่าวถึงว่าเป็นพื้นฐานความคิดที่สำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แสดงตนในสิทธิขั้นพื้นฐานและความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นพลเมืองกับสำนึกของการเชื่อฟังกฎหมายที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคมนั้น มีมานานนับแต่สมัยกรีก ที่สะท้อนผ่านงานของนักปราชญ์สำคัญอย่าง โสเครติส (มีชีวิตระหว่างปี ๔๗๐-๓๙๙ ก่อนคริสตกาล) ที่อธิบายเรื่องราวของ ศีลธรรม และการเชื่อฟังทางการเมืองของบุคคลนั้นขึ้นต่อสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างผู้มาร่วมกันสร้างสังคมขึ้น[2]

               ความคิดและประสบการณ์พื้นฐานในการจัดความสัมพันธ์ในการใช้อำนาจในสังคม หรือ การเมืองการปกครอง ในยุคกรีกโบราณและระยะผ่านสืบเนื่องมาช่วงระยะหลายร้อยปีนั้น ได้สร้างแบบแผนแนวคิดการเมืองการปกครองที่รองรับหลักการว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานและสำนึกหรือบทบาทของพลเมืองที่มีความตกลงร่วมกัน อันนำไปสู่กาพัฒนาแนวคิดของนักปราชญ์ในยุคกลางของยุโรปที่สำคัญคือ โธมัส ฮอบส์ (ค.ศ.๑๕๘๘-๑๖๗๙)  จอห์น ล็อค (ค.ศ.๑๖๓๒-๑๗๐๔) และ ฌอง-ฌากส์ รูสโซ (ค.ศ.๑๗๒๑-๑๗๗๘) เป็นรูปเป็นร่างในนามของสิ่งที่เรียกว่า สัญญาประชาคม (Social Contact) ที่กล่าวอ้างว่า มนุษย์เกิดมาเสรี แต่เขาถูกพันธนาการอยู่ทั่วทุกแห่งหน   ดังนั้นจึงควรทำลายพันธนาการดั้งเดิมที่อยุติธรรมทิ้งเสีย ซึ่งก็คือพันธสัญญาที่ผู้มีอำนาจกว่ากดขี่ข่มเหงผู้อ่อนด้อยกว่าได้  แล้วสร้างพันธสัญญาใหม่ที่เรียกว่า สัญญาประชาคม เพื่อคุ้มครองบุคคลแต่ละคนในสังคม ให้เสรีภาพ ความเสมอภาค แก่พลเมืองแห่งประชาคมนั้น โดยต้องมีเจตนารมณ์ร่วมกัน การกำหนดหลักอำนาจอธิปไตยที่แบ่งแยกมิได้ ที่มีประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์(Sovereign) กำหนดเกณฑ์วิธีการบริหารการปกครองอันเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่เคร่งครัดในหลักที่ว่าสังคมได้รับการจัดตั้งโดยพลเมืองและควบคุมโดยเจตจำนงร่วม สามารถถอดถอนรัฐบาลอันไม่เป็นที่ยอมรับได้ [3] แนวคิดของ จอห์น ล็อค ที่เสนอเรื่องสัญญาประชาคมและสิทธิพลเมืองที่จะกบฏต่อกษัตริย์หรือผู้ปกครองนั้น มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในระยะต่อมาเป็นอันมาก โดยเฉพาะต่อ โทมัส  เจฟเฟอร์สันประธานาธิปดีคนที่ ๓ ของ สหรัฐ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อกบฏต่อกษัตริย์อังกฤษและสร้างชาติสหรัฐ และปกครองตนเองในระยะต่อมา

               หลักการพื้นฐานที่กล่าวอ้างมาทั้งสิ้นนี้ เพื่อกำหนดนิยาม ความหมาย และหลักการสำคัญการของเมืองภาคประชาชน หรือ การเมืองภาคพลเมือง อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

               จากหลักคิด ทฤษฎีเบื้องต้นสามารถถอดรหัสสาระสำคัญที่เป็นความหมายโดยพื้นฐานของ การเมืองภาคพลเมือง ในเบื้องต้น ได้ดังนี้

  • อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชนหรือพลเมือง
  • พลเมืองมีสิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ เป็นพื้นฐาน
  • ประชาชนรวมกันด้วยสำนึกในการเอาธุระ หรือสำนึกร่วมกัน ในการกำหนดประเด็นสาธารณะเพื่อบรรลุความมั่นคง สงบสุข ร่วมกัน ในลักษณะเจตจำนงร่วม ที่สามารถแสดงออกซึ่งสิทธิ ความเรียกร้องต้องการ ของตนได้อย่างเป็นอิสระ
  • สามารถถอดถอนผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม หรือ ทำให้พลเมืองไม่มีความสุข


นิยามแรกจึงเป็นดังนี้

การเมืองภาคพลเมือง คือ การเมืองที่มีความเชื่อพื้นฐานในหลักการอำนาจเป็นของปวงชน บนพื้นฐานแห่งสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ที่มีเจตจำนงร่วม และจิตสำนึกสาธารณะในความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมแสดงออกซึ่งสิทธิ และความต้องการในการทำให้สังคมมีธรรมาภิบาล และพลเมืองมีความสุข

 
·      บริบทสำคัญของการเมืองภาคพลเมือง

ในความหมายทางวิชาการ มีความหมายสำคัญของคำสำคัญว่า พลเมือง และ ประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ การเมืองภาคพลเมือง ที่ควรสร้างความเข้าใจร่วมกันโดยพื้นฐาน ก่อน ดังนี้

 
พลเมือง

ความหมายที่เทียบเคียง คือ ประชาชน ราษฎร  ประชากร เป็นต้น ลองมาค้นเจาะลึกในความเป็น พลเมือง ก่อน ดังนี้

               เอนก  เหล่าธรรมทัศน์  เชื่อมโยงองค์ความรู้ตะวันตกที่เรียกว่ากลุ่มแนวคิดสาธารณนิยมที่เน้นบทบาทของพลเมือง(Civic republicanism) ว่าสมาชิกของระบอบประชาธิปไตยต้องภาคภูมิใจในความเป็นพลเมือง (citizens) ของตน พลเมือง คือผู้มีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับผู้อื่น ไม่ปรารถนาจะไปครอบงำใคร และไม่ยอมให้ใครมาครอบงำหรืออุปถัมภ์ค้ำจุนตน[4]

               พลเมืองไม่ใช่ไพร่ พลเมืองไม่ใช่ราษฎร  ไพร่  คือผู้ยอมรับสถานภาพสูง-ต่ำ  บงการ-รับใช้  อุปถัมภ์-รับใช้  ระหว่างผู้ใหญ่ กับ ผู้น้อย ไพร่ คือ ผู้เห็นตัวเองเป็นผู้น้อย ผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์และมุ่งเสาะแสวงหาผู้อุปถัมภ์  ส่วน ราษฎร คือ ผู้ที่ยอมรับอำนาจและกฎหมายของผู้ปกครอง แต่ไม่สนใจการปกครองตนเองหรือการมีส่วนร่วมในทางการเมือง-การปกครอง[5]

               นอกจากนั้น ยังมีหลักคิดสำคัญในเรื่องการเมืองเชิงคุณธรรม (Virtue) เน้นบทบาทเชิงกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มีการปลูกฝังบ่มเพาะคุณธรรมต่อส่วนรวม (Civic Virtue) การเมืองเป็นเรื่องการสร้างคุณธรรม คุณค่าเพื่อผู้อื่น และเสียสละเพื่อส่วนรวมด้วย[6]

ในงานวิจัยเรื่อง การเมืองภาคประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยไทย ผู้วิจัย คือ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล ได้อธิบายความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ที่ฉายภาพความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมดั้งเดิมในลักษณะ นาย-ไพร่ ในระบบวัฒนธรรมเชิงอุปถัมภ์ ที่ค่อยเสื่อมทรุดตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และยกเลิกอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ก็ตามแต่การที่วัฒนธรรมนี้คงอยู่คู่สังคมไทยมานานหลายร้อยปี จึงเป็นวัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่แปรรูปมาเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบรัฐราชการ(bureaucratic state) เป็นแกนกลาง[7] เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นพลเมืองไทยที่ถูกแต่งตั้งแยกกันให้ชัดเจนในรูปนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยยังถือวัฒนธรรมนายไพร่ที่สอดแทรกแปลงเข้าสู่ระบบราชการ

               อย่างไรก็ตาม ในรัฐไทยสมัยใหม่  ภายใต้ระบบรัฐราชการที่นำความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน  ,ไพร่ กับ มูลนาย  มาสู่จินตภาพแห่งความเสมอภาคทางกฎหมาย(Equality Before Laws)                 ราษฎรในสังคมสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถูกเรียกร้องให้อยู่ในความประพฤติชอบของกฎหมาย และขนบธรรมเนียมนิยมและมีหน้าที่สร้างความเจริญให้แก่บ้านเมือง ในขณะที่ชนชั้นสูงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติผู้ดี  ราษฎรก็ถูกสร้างให้มีคุณภาพเป็นพลเมืองดี โดยอาศัยการจัดการศึกษา เป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน [8] แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์เก่าถูกทำลาย แต่ความสัมพันธ์ใหม่มิได้หยั่งราก ไม่ต่างจากการเลิกไพร่เลิกทาสที่มิได้ตามมาด้วยสังคมของปัจเจกชนที่มีพลังและเร่าร้อนในเรื่องสิทธิทางการเมือง หากกลายเป็นสังคมของ ไพร่ไร้สังกัดที่โหยหานายใหม่ ดังนั้น ในห้วงยามที่รัฐกำลังมอบอำนาจทางการเมืองให้กับประชาชนตามแนวทางประชาธิปไตย รัฐก็ต้องรับปากว่าจะเร่งอุปถัมภ์ค้ำจุน [9]

               ความหมายของ พลเมือง ในมิติสังคมไทยจึงเป็นการคลี่คลายทางสังคมนับจาก ไพร่-ทาส  ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาสู่ ความเป็น ราษฎร หรือประชาชนในระบบรัฐหรือราชการอุปถัมภ์ หลังการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕

               บวรศักดิ์  อุวรรณโณ  กล่าวถึงความหมายของการเมืองว่า หมายถึง การแข่งขันเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อเข้ามาบริหารและจัดการการใช้ทรัพยากรของรัฐ และยังจัดลำดับของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของระบอบการเมืองกับผู้คนในสังคมเป็นสามระยะ คือ

               ระยะแรก สังคมไทยเป็นการเมืองยุคไพร่ฟ้า คือ ประชาชนเป็นผู้รองรับการใช้อำนาจและการตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียว นับช่วงเวลาแต่ยุคก่อรวมชาติสยามจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕

               ระยะที่สอง การเมืองยุคราษฎร เป็นระยะที่ประชาชนที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับผู้ปกครองหรือรัฐแบบชั่วครั้งชั่วคราว คือ การได้รับสิทธิและอำนาจในการเลือกตั้ง ใช้อำนาจเพียงชั่วคราวของตนในการเลือก ผู้แทนราษฎร หลังจากเลือกผู้แทนราษฎรเสร็จแล้ว อำนาจทั้งปวงจะตกเป็นของผู้แทนราษฎร สภา รัฐบาล ในการบริหารจัดการและกุมชะตากรรมผู้คนไปอีก ๔ ปี  ความสัมพันธ์ในลักษณะการมีส่วนร่วมกับรัฐในเชิงอำนาจก็เป็นชั่วครั้งชั่วคราว มีผู้แทนราษฎร สภา และรัฐบาล เป็นผู้ใช้อำนาจแทน และมีระบบราชการเป็นพี่เลี้ยง ราษฎร มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎ ระเบียบ คำสั่ง ต่างๆ ที่รัฐเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น โดยช่วงเวลานับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.๒๕๔๐

               ระยะที่สาม การเมืองยุคพลเมือง เมื่อราษฎรมีการเรียนรู้ ตระหนัก ในสิทธิ หน้าที่ เกิดสำนึกสาธารณะ และต่อสู้ผลักดันให้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ ที่รองรับสิทธิ เสรีภาพ ของพลเมืองประกาศใช้ ผู้คนจึงเปลี่ยนสถานะเป็นพลเมือง ที่มีส่วนร่วมในทางการเมืองด้วยความตระหนัก(การมีส่วนร่วมแบ่งได้ ๗ ระดับ คือ ๑.รับรู้  ๒.ให้ข้อมูลหรือให้ความคิดเห็น ๓.ร่วมคิด ๔.ร่วมผลัดกัน ๕.ร่วมตัดสินใจ ๖.ร่วมรับผลจากการตัดสินใจนั้น และ ๗.ร่วมในการตรวจสอบกำกับดูแลการใช้อำนาจรัฐ ) โดยนับช่วงเวลาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน [10]

               นับเป็นนิยามและแสดงความสัมพันธ์กับลักษณะทางการเมืองของสังคมไทยในแต่ละช่วงระยะได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ในทางความคิดเห็นยังสามารถเปิดประเด็นโต้แย้งกันได้อย่างมากโดยเฉพาะการแบ่งช่วงเวลา และการกำหนดเงื่อนไขให้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นตัวกำหนดที่มีนัยสำคัญในการทำให้ ราษฎร พลิกผันสู่การเป็นพลเมือง เพราะหากพิจารณาแนวคิดเบื้องต้น เสกสรร ประเสริฐกุล ยังเชื่อว่าในความหมายของการเมืองเชิงวัฒนธรรมนั้น ความเป็นไพร่ ยังคงดำรงสถานะทางรูปการจิตสำนึกอยู่ในระบบราชการเชิงอุปถัมภ์แม้ในช่วงระยะปัจจุบัน เป็นต้น

               บริบทของความเป็น พลเมือง ของสังคมไทยนั้นพอจะยอมรับร่วมกันได้ในลักษณะรูปการจิตสำนึกของผู้คนในสังคมที่มีความรับรู้ ตื่นตัว ตระหนักในศักดิ์ศรี ความเป็นอิสระ สิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบในกิจธุระอันเป็นประเด็นปัญหา ความต้องการอันเป็นประโยชน์ของส่วนรวม หรือ สำนึกสาธารณะ รวมทั้งมีความมุ่งมั่นและการดำเนินการในการเข้าร่วมในกิจกรรมเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะในระดับต่างๆกัน

               ดังนั้น เมื่อเรากล่าวถึงการเมืองภาคพลเมือง ในลำดับต่อๆไป เราจึงพอเข้าใจในความหมายของการเป็นพลเมืองที่เป็นจินตภาพสอดคล้องใกล้เคียง

 
               ประชาสังคม

               ในทางวิชาการ มีผู้ให้นิยามหรือความหมายของคำว่า ประชาสังคม หรือ Civil Society มากมายดังจะหยิบหยกมากล่าวถึงในลำดับถัดไป เพียงแต่การทำความเข้าใจในความหมายของ ประชาสังคม ในที่นี้นั้น ก็เพื่อให้สามารถกำหนดบริบทหรือมองเห็นเป็นจินตภาพของสนามที่เล่นของการเมืองภาคพลเมืองเท่านั้นเอง

               ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า ถ้าสังคมไทยเข้าใจความเป็น ประชาสังคม ก็จะหลุดจากบ่วงกรรม สามารถแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ จิตใจ  สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และ  การเมืองได้ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจความเป็น ประชาสังคม ถึงแม้พยายามเท่าใดๆ ก็จะได้เหมือนเดิม คือ วิกฤติ [11]

               ทั้งนี้ อ.ประเวศ ได้พิจารณาความหมายของ ประชาสังคม จากลักษณะทางโครงสร้าง ดังนี้  คือ ในสังคมใหญ่ สลับซับซ้อน และเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ลำพังอำนาจรัฐ กับ ปัจเจกบุคคล ไม่มีพลังเพียงพอที่จะรักษาอินทรีย์ของสังคมให้ดำรงอยู่ และมีดุลยภาพได้ จำเป็นต้องมี โครงสร้าง ทางสังคม อีกโครงสร้างหนึ่งขึ้นมาระหว่างกลาง เชื่อมโยง รัฐ กับ ปัจเจกชน โครงสร้างทางสังคมนี้ เรียกว่า ประชาสังคม[12]

               อ.ไพบูลย์  วัฒนธรรมศิริ  นักพัฒนาอาวุโส กล่าว่า สังคมที่ประชาชนทั่วไปต่างมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชน โดยอาศัยองค์กร กลไก กระบวนการ และกิจการอันหลากหลายที่ประชาชนจัดขึ้น โดยนัยยะความหลากหลายขององค์กรซึ่งล้วนมีบทบาทในการผลักดันเปลี่ยนแปลงสังคม เสมือน สังคม ของ ประชา และเสนอว่า     ประชาสังคมนั้นเป็นส่วนของสังคมที่มิใช่ภาครัฐ ซึ่งดำเนินงานโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และก็ไม่ใช่ภาคธุรกิจ ซึ่งดำเนินงานโดยหวังมุ่งผลกำไร [13]

               ศ.ชัยอนันต์  สมุทวณิช พิจารณาเห็นว่า ประชาสังคม หมายถึงทุกส่วนของสังคม โดยรวมถึงภาครัฐ  ภาคประชาชนด้วย  โดยทุกฝ่ายเข้ามาเป็น partnership กัน หรือเรียกอีกคำว่า วิถีประชา คือ การดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม องค์กรต่าง โดยเอาตัวกิจกรรมเป็นศูนย์กลางปราศจากการจัดตั้ง ในลักษณะของ Civic movement [14]

               เธนศ  อาภรณ์สุวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า ในประเทศไม่ใช่ตะวันตกจะเห็นการเน้นและให้ความสำคัญของมิติของลักษณะตรงข้ามกับรัฐค่อนข้างสูง จนอาจกล่าวได้ว่า วาทกรรมประชาสังคมในยุคโลกภิวัฒน์นี้ก็คือ แนวความคิดทางการเมืองที่ตรงกันข้ามรัฐ หรือที่มาจากสภาวะด้านตรงข้ามรัฐเป็นสำคัญ [15]

               เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ได้เน้นย้ำจินตภาพของประชาสังคมที่หมายถึง ส่วนรวมที่มิใช่รัฐเมื่อราวทศวรรษที่ผ่านมา โดยให้ภาพประชาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ว่า ประชาสังคม (civil society) ในความเห็นของผู้เขียนหมายถึง เครือข่าย กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน แบะชุมชนที่มีกิจกรรม หรือ มีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างรัฐ (state) กับ ปัจเจกชน (individuals) [16]

            นอกจากนิยาม ความหมายของประชาสังคมจากผู้ทรงคุณวุฒิข้างต้น ซึ่งทำให้เราได้เส้นที่แบ่งขอบเขต หรือ บริบท หรือสนามที่การเมืองภาคพลเมืองสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ในกรอบหรือความหมายเหล่านี้แล้ว  เรายังสามารถพิจารณาเนื้อหา สาระสำคัญของความเป็นประชาสังคมได้โดย เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ ได้ขยายภาพที่เป็นจุดเน้นของประชาสังคม คือ ๑) ไม่ชอบ หรือไม่ยอมให้รัฐครอบงำหรือบงการ แม้ว่าจะยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐ และมีความร่วมมือกับรัฐได้  แต่ก็สามารถชี้นำกำกับและคัดค้านรัฐได้พอสมควร  ๒) ไม่ชอบลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดขั้ว  ซึ่งส่งเสริมให้คนเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างอยู่ แก่งแย่งแข่งขันกันจนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  ซึ่งภาพตัวประชาสังคมที่เสนอโดย ธีรยุทธ  บุญมี ที่กล่าวย้ำความหมายอันเป็นความเข้าใจเบื้องต้นว่า ความคิดประชานิยม ก็คือ การคานอำนาจระหว่างรัฐกับสังคม รัฐ กับกิจกรรมการรวมกลุ่ม และการแสดงความคิดเห็นของสังคม [17]

               ธีรยุทธ กล่าวย้ำว่า ประชาสังคม  ก็คือ สังคมที่สมาชิกกระตือรือร้น เอาการเอางาน  ถกเถียงร่วมกันในประเด็นร่วมกันของสังคมในสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยรวมของภาคสาธารณะหรือส่วนรวม  และต้องมีหน่วย และองค์รวมทางสังคมการเมืองที่มีลักษณะมั่นคง ถาวร ดำรงอยู่เป็นพื้นฐาน ไม่ว่า จะเป็น ประชาคมโลก ประเทศ จังหวัด  หมู่บ้าน  หรือชุมชนก็ได้ อาจมีองค์กรและเครือข่ายประชาสังคมระดับโลก  ระดับประเทศ  หรือระดับท้องถิ่นก็ได้  และลักษณะสำคัญอีกประการคือ การเปิดพื้นที่แห่งการช่วงชิง (Open and contested   space) เป็นพื้นที่เปิด เวที หรือโอกาสที่ได้อยู่รวมกัน ได้พบปะสนทนา หรือสื่อสารกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ความต้องการของทั้งสองฝ่าย ปฏิบัติกิจกรรมอันเป็นสาธารณะอีกด้วย [18]

               นิยาม ความหมายทางวิชาการของ ประชาสังคม รวมทั้งองค์ประกอบอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ อาจทำให้เห็นภาพร่างของสนาม ที่มีตัวละครหลัก คือ พลเรือน ซึ่งเปรียบเสมือน ผู้เล่นสำคัญ ที่จะลงแข่งขันในเกมส์แห่งอำนาจ คือการต่อสู้ แข่งขันทางการเมือง ในนามทีมหรือ คณะของขบวนการการเมืองภาคพลเมืองนั่นเอง

               เมื่อจินตภาพ และความเข้าใจร่วมกันในความหมายของ การเมืองภาคพลเมือง  ความเป็นพลเมือง  และ ประชานิยม อย่างชัดแจ้งร่วมกันแล้ว ก็ค่อยก้าวสู่บริบทของการศึกษา เข้าใจ ในบทบาทของภาคประชาสังคมเข้มข้น ในการดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป


·      ขบวนการประชาสังคมเข้มข้น

               จากนิยาม ความหมาย ในพรมแดนแห่งความรับรู้ทางวิชาการในสิ่งที่เรียกว่าประชาสังคม ดังที่นำเสนอในเบื้องต้นแล้วนั้น

               ในปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ถึง บทบาท ที่สะท้อนการดำรงอยู่จริง ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคพลเมืองขบวนหนึ่ง ทีสั่งสมจิตสำนึกสาธารณะในฐานะพลเมืองผู้ตื่นรู้(Active Citizens) ผสานอยู่ในกระแสธารของสามัญสำนึกแห่งชุมชนท้องถิ่น (Local Community Consensus) และเฝ้าฝังตัวอยู่ในมิติของการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเองและความอยู่ดีมีสุขของชุมชนท้องถิ่น อย่างสงบ สันติ สมานฉันท์ ต่อเนื่องยาวนานมากว่าสามทศวรรษ

               จนเมื่อสังคมคลี่คลายตนเอง เยียวยาตนเองจากบาดแผลสงครามกลางเมืองในยุคการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับ รัฐบาล หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งของเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้จากขบวนการปฏิวัติเดิมได้ถอนตัวและถอยตัวเอง ปรับลดบทบาท ความคิดชี้นำ ลงมาทำงานในขบวนงานพัฒนาชุมนท้องถิ่น เพียงเพื่อเยียวยาจิตวิญญาณและสานสืบเจตนารมณ์ของการยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของสังคม สาธารณะ และพี่น้องประชาชน คนยากจน ผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ ฯลฯ พัฒนาตน ปรับบทบาทของตนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการพัฒนาในภาคประชาสังคมที่มีบทบาทเข้มข้นขึ้นต่อเนื่องแต่นั้นมา

               บทบาทการนำพาพี่น้องประชาชนเข้าต่อสู้อย่างเข้มข้น เพื่อที่ดินทำกิน ในกรณีโครงการ คจก. ในพื้นที่ภาคอีสาน  การต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน ในกรณีเขื่อนปากมูล  กรณีที่ดินทำกินป่าดงใหญ่ นับเป็นตัวอย่างบางส่วนของพัฒนาการการขับเคลื่อนตัวของขบวนประชาสังคมเข้มข้นในยุคแรกๆ ซึ่งต่อมาขยายบริบทไปทั่วประเทศและยกระดับประเด็นการต่อสู้เรียกร้องที่มีมิติการเมืองภาคพลเมืองเด่นชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  อาทิ การต่อสู้เรื่องดิน น้ำ ป่า ในภาคอีสาน และภาคเหมือ  เรื่องสิ่งเเวด ล้อมและสิทธิชุมชนในพื้นที่รอบอ่าวไทย ตั้งแต่มาบตาพุด บ่อนอก หินกรูด ถึง จะนะ การต่อสู้อย่างรวมประเด็นปัญหาของ สมัชชาคนจน  การต่อสู่เรื่องประเด็นหนี้สิน ที่ดินทำกิน และปัญหาเกษตรกร ของ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยต่างๆ  ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมืองของเครือข่ายสลัม ๔ ภาค การต่อสู้เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องเพศ เรื่องแรงงานนอกระบบ เรื่องค่าจ้างผู้ใช้แรงงาน เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เหล่านี้เป็นต้น ล้วนบ่มฟักขบวนการประชาสังคมอย่างเข้มข้นทั้งในทางด้านเนื้อหา และรูปขบวนการจัดตัวเองเพื่อการขยับรองรับกับสถานการณ์วิกฤติทางสังคมในระยะต่อมา

            ความเข้มข้นของมิติการเคลื่อนไหวในขบวนภาคประชาสังคมใหม่ได้ดำเนินไปภายใต้เงื่อนไขการเคลื่อนตัวของประชาคมท้องถิ่น ทั้งในระดับหมู่บ้าน และตำบล อันเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ปรับจุดเน้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๘ เป็นต้นมา ซึ่งเน้นให้กระบวนการพัฒนาส่วนภูมิภาคและการพัฒนาท้องถิ่นโดยภาครัฐทั้งหมดหันมาเน้นการพัฒนาที่มี คน เป็นศูนย์กลาง และทิศทางการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค รวมทั้งทิศทางการพัฒนาภาคเอกชนที่เน้นการพัฒนาที่ฐานรากของสังคมตามแนวทาง Small is Beautiful หรือแนวทาง คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน.. ซึ่งปูพื้นฐานงานพัฒนาภาคเอชนมาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย

               เมื่องานพัฒนาที่ยึดโยงกับแนววัฒนธรรมชุมชน หรือการพัฒนาที่นำไปสู่การจัดการตนเอง การพึ่งตนเอง บนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิมในสังคม หรือ ทุนทางสังคม (Social Capital)  ซึ่งได้รับการกระตุ้นครั้งใหญ่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ.๒๕๔๐ ภายใต้โครงการการลงทุนเพื่อสังคม หรือ SIF – Social Investment Fund  ทำให้ขบวนการประชาคมชุมชนท้องถิ่นได้รับการพัฒนา ขยายบทบาท เฟื่องฟู คึกคัก มีพลังอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

               ขบวนการประชาสังคมเข้มข้น ที่ด้านหนึ่งยกระดับพัฒนาการต่อสู้ของตนขึ้นสู่เป้าหมายระดับนโยบาย และอำนาจรัฐในระดับต่างๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งมุ่งลงสู่การพัฒนาในระดับพื้นฐานประสานเชื่อมกับขบวนประชาคมชุมชนท้องถิ่น ที่ด้านหนึ่งก็ยกระดับเนื้อหาการทำงานพัฒนาที่เชื่อมโยงสู่รัฐและนโยบายแห่งรัฐมากขึ้น เช่น กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน ตามแบบฉบับของชาวบ้าน ไม้เรียง  อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ที่นำโดย นายประยงค์ รณรงค์ เป็นต้น ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงกระบวนการระหว่างสองสายธารของการขับเคลื่อนทางสังคมในระดับพื้นฐาน ชุมชน ท้องถิ่น เริ่มเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และร่วมทำงานขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน

               ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียกขานในวงการพัฒนาว่า งานร้อน ซึ่งหมายถึงขบวนที่เคลื่อนไหวเชิงการต่อสู้ เรียกร้อง ในแนวทางกดดัน กับ งานเย็น ซึ่งหมายถึงขบวนที่เน้นการพัฒนาในพื้นที่ชุมชน ท้องถิ่น ที่เน้นการพัฒนาที่ตนเอง การพึ่งตนเอง ได้เกี่ยวข้องเชื่อมประสานกันมากขึ้นจากพื้นฐานการดำรงอยู่ของผู้คนที่เข้าร่วมขับเคลื่อนงานในสองขบวนการดังกล่าวล้วนอาศัยร่วมกันในชุมชนท้องถิ่นเดียวกัน หรือในภูมิลำเนาใกล้เคียงกัน เป็นประการแรก  ประการที่สองทั้งสองขบวนต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์บีบคั้นร่วมกัน ทั้งจากวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ.๒๕๔๐ และ ๒๕๕๒ ซึ่งมีผลให้ทั้งสองขบวนการทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่เดียวกันต้องหันหน้าข้าหากันและเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่คุกคามร่วมกัน ต้องหันมาพึ่งพาอาศัยกันและกันและเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการเกิดขึ้นของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกรณีพันธมิตรฯ ทักษิณ ที่เร่งเร้าผลักดันให้ทุกภาคส่วนในสังคมเลือกข้าง อละมีท่าทีทางการเมืองอย่างแจ้งชัด

               เกิดเป็นรูปขบวนใหม่ของการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่มีบทบาททั้งในด้านงานการพัฒนาในระดับพื้นที่ชุมชน ท้องถิ่น และบทบาทการต่อสู้เรียกร้องในด้านนโยบาย สิทธิ และการเมืองภาคพลเมืองไปด้วยกัน

               คือ มิติ นิยาม ของ ขบวนการประชาสังคมเข้มข้น นั่นเอง


·      ย้อนศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยจาก2475ถึงปัจจุบัน

การอภิวัฒน์ 2475 นำโดยคณะราษฎร์นั้นได้ทำให้สังคมไทยมีพัฒนาการประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานตลอดมา  ภายใต้ความขัดแย้งช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำระหว่างนักการเมืองและทหาร  ทำให้มีการเลือกตั้งสลับกับการทำรัฐประหารตลอดมาและช่วงเวลาที่อยู่ในยุคการเลือกตั้งจริงมีเพียงสิบปีเศษหากนับมาถึงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14  ตุลาคม  2516  บ้านเมืองไทยตกอยู่ในอำนาจของเผด็จการทหารอย่างยาวนานและเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุด

ทำไมวัฒนธรรมประชาธิปไตยจึงไม่ฝังรากลึกในสังคมไทย  หากจะตอบคำถามนี้ก็คงต้องดูไปถึงพัฒนาการทางสังคมเศรษฐกิจของไทย  ที่ภาคชนบทยังคงอยู่ในระบบอุปถัมภ์และพึ่งพาหวังพึ่งรัฐ  ปัญหาความยากจนและขาดการศึกษาก็ทำให้ระบบคิดต่าง ๆยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์และการนับถือศาสนาพุทธก็เป็นเพียงการติดยึดกับรูปแบบพิธีกรรมมากกว่าการแสวงหาซึ่งแก่นของเนื้อหาธรรมะที่จะช่วยให้การเข้าถึงความจริงง่ายขึ้น

ในภาคเมืองการเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกในปี 2504 ทำให้เกิดชนชั้นกลางที่อยู่ในภาคธุรกิจเอกชนมากขึ้นและส่วนหนึ่งก็ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ  กระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในอเมริกากรณีที่รัฐบาลสหรัฐส่งทหารไปรบในเวียดนามได้ส่งผลสะเทือนมาถึงคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยของไทย  มีการแสวงหาแนวความคิดใหม่ ๆ ของชีวิตและมีความตื่นตัวในการทำกิจกรรมของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้นนับจากปี 2508  เป็นต้นมา  โดยเฉพาะชมรมวรรณศิลป์  ชมรมฝึกพูดและโต้วาที  ชมรมค่ายอาสาพัฒนา  ได้ทำให้ความคิดของนักศึกษาเริ่มออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยและเริ่มตั้งคำถามกับอำนาจเผด็จการทหารและความด้อยพัฒนาในสังคมไทย

บทบาทของปัญญาชนในการเป็นกองหน้าและสะพานเชื่อมสู่สังคมได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ด้วยการโค่นล้มเผด็จการทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน  ด้วยจิตอันบริสุทธิ์  มองโลกในแง่ดีและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเป็นพลังที่เกาะเกี่ยวกับสังคมและนำไปสู่การเดินขบวนสำแดงกำลังพร้อมกันจนผู้ปกครองเผด็จการตกใจจนทำอะไรไม่ถูก  ยิ่งใช้วิธีปราบปรามก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เลวร้ายจนนำไปสู่รัฐบาลพระราชทานจากในหลวงและร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 นำประเทศไทยเข้าสู่การเลือกตั้งด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นครั้งแรกหลังจากว่างเว้นมานานกว่าสิบแปดปี

รากเหง้าของกลุ่มอำมาตยาธิปไตยผ่านทางพลเอกผิน  ชุณหวันผ่านทางพรรคชาติไทยเริ่มหมดไปในยุคปัจจุบัน  ระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบอบทุนผูกขาดได้วางระบบการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในทุกระดับตั้งแต่การเมืองระดับชาติไปจนถึงท้องถิ่นทำให้การเมืองไทยตกอยู่ในวังวนของการเมืองที่ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อหว่านลงไปให้กับหัวคะแนนและให้หัวคะแนนนำเงินไปให้ชาวบ้านจนเกิดวลีที่ว่า  "เงินไม่มากาไม่เป็น"  ยิ่งในยุคระบอบทักษิณพัฒนาไปเป็นการซื้อเสียงในเชิงนโยบายด้วยนโยบาย    "กองทุนหมู่บ้าน"  "SML"  ที่ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะถูกล็อกเอาไว้อย่างลงตัวด้วยนโยบายประชานิยมที่ชาวบ้านไม่อาจปฏิเสธได้แต่ด้วยระบบแบบนี้ทุนผูกขาดทักษิณได้สร้างนโยบายต่าง ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ไปจากประเทศชาติอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกรณี ปตท. การเปลี่ยนระบบการเสียภาษีโทรศัพท์มือถือด้วยการเสียแบบใช้เส้นทางกรมสรรพสามิตเป็นการเลี่ยงภาษีที่แยบยลแต่ประเทศชาติเสียหายจากการเก็บภาษีไปเป็นจำนวนมาก

 
·      สภาพสังคมเศรษฐกิจไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน

ระบบทุนนิยมที่เข้ามาในชุมชนชนบทจากในอดีตถึงปัจจุบันด้วยเส้นทางของถนนหนทางที่ไปมาสะดวกเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการผลิตของชาวนาที่เริ่มมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น  ปัจจุบันการใช้ควายไถนาเริ่มมีให้เห็นน้อยลงและยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย  ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแต่ภาครัฐที่นำโดยกระทรวงเกษตรก็ไม่ได้ลงไปส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตอย่างจริงจัง  ไม่ลงไปส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง  รวมทั้งปัญหาสำคัญที่ชาวนาไทยเรียกร้องมาทุกสมัยคือการปฏิรูปที่ดิน  การประกันราคาพืชผล  การจัดทำระบบชลประทานต่าง ๆของภาครัฐก็ดูเหมือนปัญหาเหล่านี้ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขแต่อย่างใด

จากสภาพสังคมชนบทที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันประเพณีเก่า ๆ ต่างเลือนหายไปเช่นประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวถูกแทนที่ด้วยค่าจ้างในการดำนาและเกี่ยวข้าว  ญาติพี่น้องที่เข้ามาทำงานในเขตเมืองต้องส่งเงินกลับไปเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการทำนาซึ่งเมื่อบวกลบคูณหารแล้วไม่รู้ว่ากำไรจะเหลือเท่าไร?

ในภาคเมืองปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือบัณทิตที่จบจากมหาวิทยาลัยตกงานมากขึ้น  ส่วนหนึ่งต้องหันไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเช่าแผงค้าเล็ก ๆ ทำการขายสินค้าต่าง ๆ  ชนชั้นกลางในเมืองที่อยากเป็นเจ้าของกิจการแต่ในสภาวะปัจจุบันก็คงแจ้งเกิดได้ไม่ง่ายนัก  ยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตพลังงานก็ดูเหมือนว่าความฝันกับความเป็นจริงดูจะห่างไกลออกไปทุกที  ด้วยระบบทุนนิยมที่การค้าขายยังคงมุ่งอยู่ที่การบริโภคมากเกินไปและภาครัฐขาดการส่งเสริมธุรกิจที่มีอนาคตและช่วยเหลือด้านเงินทุนและองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างแท้จริงก็ยิ่งทำให้ผู้ที่ก้าวเข้ามาใหม่ในธุรกิจมีโอกาสที่จะล้มเหลวมากขึ้น

นั่นคือหากภาพเศรษฐกิจการลงทุนมีการส่งสัญญาณจากภาครัฐที่ชัดเจนว่าวิสัยทัศน์ของประเทศนี้จะก้าวเดินไปทางไหนและภาคธุรกิจใดภาครัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ก็อาจเป็นช่องทางหนึ่งในการทำให้ผู้คนประเทศนี้พอจะมีเส้นทางของอาชีพให้เลือกเดินมากขึ้น  และหากเรามองดูกันจริง ๆสภาพสังคมไทยที่มีแหล่งอาหาร  ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายทั้งป่าเขาทะเล  สินแร่รวมทั้งแหล่งน้ำมันที่ขุดค้นพบอีกมากมาย  แหล่งท่องเทียวทางโบราณสถานที่มากมายมีหรือที่ประเทศนี้จะดำรงชีวิตอยู่กันด้วยความยากลำบาก?


๓. บทบาทขบวนการประชาสังคมเข้มข้นเพื่อการผ่านพ้นวิกฤติ

               ดังที่กล่าวถึงเบื้องต้นแล้วว่า สถานการณ์บ้านเมืองบีบรัดถึงขั้น วิกฤติ แล้วหรือไม่ ถ้าใช่ขบวนการประชาสังคมเข้มข้น จะมีบทบาทสำคัญผ่านวิกฤตินี้ได้อย่างไร?

 

               ๓.๑ บทบาทสวนสาธารณะที่มีดอกไม้หลากสี

               สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นของกลุ่มคน และขบวนการที่มีความเห็นต่าง ได้ถูกสร้างสัญลักษณ์เป็น สี ขึ้น และคู่ขับเคี่ยวสำคัญที่ปะทะขัดแย้งกันอย่างเอาเป็นเอาตายคือคู่ความขัดแย้งระหว่าง สีเหลือง กับ สีแดง

               หากเปรียบเทียบเป็นบ้านสองหลังที่อยู่ใกล้กัน หลังหนึ่งเป็นบ้านสีเหลืองที่หน้าบ้านปลูกดอกไม้ในสวนหย่อมอย่างสวยงามในเฉดสีเหลือง บ้านอีกหลังหนึ่งทาทับด้วยสีแดงที่หน้าบ้านก็ปลูกดอกไม้สีแดงบานสะพรั่งงดงามยิ่งนัก ทั้งสองหลังต่างมีคนอยู่อาศัยหลายคน มีทั้งเจ้าบ้านอละลูกบ้านผู้อยู่อาศัย ซึ่งตนในบ้านทั้งสองหลังนี้มีความคิดเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่อาจจะหาข้อยุติร่วมกันได้ และคนในบ้านทั้งสองหลังก็ตัดขาดกันอย่างแจ้งชัดไม่มีใครไปมาหาสู่กัน

               แต่อย่างไรก็ตามในความงดงามของดอกไม้ในสวนหน้าบ้านทั้งสองหลัง ก็อดเป็นที่หมายปองต้องการชื่นชมของคนในบ้านไม่ แต่เขาก็ไม่สามารถก้าวข้ามกำพงแห่งสีข้ามไปยังอีกบ้านหนึ่งได้ ทำให้เขาหมดโอกาสที่จะได้ชื่นชมในความดีความงามของบ้านตรงข้ามเลย

               ทั้งนี้ ถ้ามีคนถมที่ระหว่างกลางปลูกดอกไม้งดงามหลากสี เลือกแต่สิ่งดีงามมาใส่ไว้ แล้วปักป้ายว่านี่คือ สวนสาธารณะ ทุกฝ่าย ทุกคนเข้ามาใช้ได้ เชื่อได้ว่าจะมีคนที่อยู่ในบ้านทั้งสองหลังเดินลงมาจากบ้านที่จำขังเขาไว้ในสงครามสัญลักษณ์นั้นมาสู่ สวนสาธารณะหลากสีสรรพรรณไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสรรค์งานร่วมกัน ดูแลสวนร่วมกันแน่นอน

               นี่คือ ข้อเสนอประการแรกที่ขบวนประชาสังคมเข้มข้นเสนอตัวแสดงตน ในบทบาทสวนสาธารณะ ก้าวข้ามพ้นสงครามความคิดระหว่างสีแดง-เหลือง สร้างพื้นที่สาธารณะในสถานะของขบวนการภาคพลเมืองที่เปิดกว้าง ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย

 

               ๓.๒ ต้องกล้านำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย

               การแสดงบทบาทสวนสาธารณะหรือเปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับคนทื่มีความเห็นต่างกันได้มีโอกาสเข้ามามาทำงานร่วมกัน เท่านั้นยังไม่พอ แต่ขบวนประชาสังคมเข้มขนนี้ต้องมีเนื้อหาสาระ ต้องมีจุดยืน ท่าที และความคิดเห็นของตนเองด้วย

               พื้นฐานที่สุด คือ ต้องใช้ภูมิปัญญาและสติ วิเคราะห์แยกแยะ ค้นหาส่วนที่ดี เนื้อหาที่ดี ประเด็นที่ดีจากทั้งสองสีมาเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนของตน ดังนี้

               พิจารณาเห็นว่าสิ่งที่ดีที่สุดในทางเนื้อหาการขับเคลื่อนทางการเมืองของสีเหลือง คือ การต่อสู้เพื่อธรรมภิบาล ต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่นทุกรูปแบบ การต่อสู้เรียกร้องให้ระบบการปกครองบ้านเมืองเป็นไปโดยโปร่งใส ตรงไปตรงมา

               เช่นเดียวกันเมื่อพิจารณาด้านสีแดงจะเห็นได้ถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ก้าวหน้า คือ การเรียดร้องต้องการความเป็นประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ และต้องการให้มีการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง ระบบบริหารราชการที่ล้าหลัง ไม่เป็นประชาธิปไตย(อมาตยาธิปไตย) เรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม ความยากจน และปัญหาของคนจน

               เทื่อเห็นดังนี้แล้ว ขบวนประชาสังคมเข้มข้น จึงจะมีเนื้อหาสาระที่ก้าวหน้าสุด สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของมวงมหาประชาชนอย่างแท้จริง

 

               ๓.๓ จัดการตนเองแนวใหม่

               ในรูปแบบการจัดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมยุคใหม่ (New Social Movement) มีมิติการจัดการตัวเองที่แตกต่างจากองค์กรจัดตั้งของภาคประชานแบบดั้งเดิมมากนัก โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  • ต้องการพื้นที่   การเชื่อมโยง โครงข่าย และการจัดตั้งแบบเปิดในแนวนอน

            ขบวนประชาสังคมเข้มข้นต้องการพื้นที่ เพื่อการปรากฏขึ้นของสิ่งใหม่ จากปรากฏการณ์สู่การผุดบังเกิด(Emergence) เป็นขบวนการแบบเปิดความคิดให้กว้างไกล ทุกคนสามารถสร้างอัตลักษณ์แห่งตนบนพื้นที่นี้  เรียนรู้ตนเอง  เรียนรู้เพื่อนมิตร  เรียนรู้ชุมชน ท้องถิ่น  เรียนรู้โลก เรียนรู้ชีวิต ไม่มีขีดจำกัด ข่าวสารข้อมูลไหลลื่น ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายและเท่าเทียม ไม่มีชั้นกีดกั้นการรับรู้ และเรียนรู้  ทุกคนสร้างบทบาทแห่งตนบนพื้นฐานการรับรู้และเรียนรู้อย่างอิสระ....

            พื้นที่ซึ่งประดุจดังห้องเรียนกว้างใหญ่  สำหรับการเรียนรู้ของผู้คน ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตามศักยภาพแห่งตน เป็นห้องกว้างแห่งการสมาคม การพบปะสังสรรค์สโมสรทางความคิด ไม่ติดยึดสำนัก หรือหลักยึด อย่างเปิดเผย อิสระ

            เมื่อมี ความคิด มีคน มีพื้นที่  ย่อมต้องมีการเชื่อมโยง คู่คิด คู่สนทนา กลุ่มเพื่อนมิตร  กลุ่มคิด  กลุ่มอดีต กลุ่มอนาคต.....ความคิด คน และพื้นที่ นำสู่การเชื่อมโยงตามธรรมชาติ  สร้างดุลยภาพแห่งการเรียนรู้ อันนำสู่การเปลี่ยนแลปงทางสังคมที่มุ่งหวัง....

            การเชื่อมโยง ด้วยสำนึก จิตวิญญาณ ผสานร่วมด้วยความคิด แนวคิด แนวทาง รูปแบบ วิธีการ และ พื้นที่ของแต่ละคน...นำสู่การประกอบส่วนเป็นโครงข่าย ขนาดใหญ่ กว้าง มีสมดุลย  .....

            โครงข่าย ช่วยให้เราได้เชื่อมโยงความคิด เกาะติด คน เข้าด้วยกัน สร้างสรรค์บทบาทใหม่ๆ สร้างสรรค์ นวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นอสงไขย  ไม่รู้จบ....

            เหล่านี้..จึงเกิดมีการจัดตั้งแบบใหม่ เปิด และราบแบน....ไม่อึดอัดไม่คับข้อง ไม่ปิดกั้นไม่กดทับ ไม่ตั้งรับไม่สับสน   ไม่ผูกมัดไม่ล่องลอย  ไม่แตกดับไม่เสื่อมถอยได้ง่าย....เคลื่อนย้ายไปตามวิถีแห่งโลกและจักรวาล....

  • ความเคลื่อนไหวแนวใหม่

               ขบวนประชาสังคมเข้มข้น ควรมี แนวทางความเคลื่อนไหวแบบใหม่ คือ พลิ้วไหว ดั่งสายลม ลื่นไหล ดั่งสายน้ำ...

            นอกจาก เบาบาง(จับประเด็นทางสังคมที่อยู่ในความในใจได้ทุกประเด็น ไม่ต้องเป็นเรื่องหนักๆเท่านั้น) พลิ้วไหว(อ่อนตัวเข้ารูปกับกระแสความต้องการของสังคม สาธารณะได้ทุกรูปแบบ) อ่อนไหว (ไวต่อความรู้สึกของผู้คน) ดั่งสายลม (เป็นได้ทั้งลมเย็นพัดไหวเอื่อยจนปรับเป็นพายุแรงได้ทันทีที่อุณหภูมิและความกดอากาศเปลี่ยนแปลง) ผ่านไปแล้ว.....

            ความเคลื่อนไหวแบบใหม่ ยังต้องการคุณลักษณะของ การลื่นไหลของสายน้ำ...

            จับตาการก่อเกิดของหยดน้ำ เมื่อผ่านการควบแน่นและส่วนผสมของธาตุตามหลักวิทยาศาสตร์ลงตัว ทุกอย่างสมดุลจึงเกิดเป็นหยดน้ำ......ดุจดังการควบแน่นของความคิด ประสบการณ์ และทฤษฏีทางการเมืองที่ผ่านการวิเคราะห์ ถกเถียง แลกเปลี่ยน สนทนา วิวาทะ...จนได้ที่ จึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำหยดใหม่..ใสบริสุทธิ์....

            เฝ้ามองดูหยดน้ำหนึ่งหยดตัวลงบนพื้น...จากหนึ่งหยด อีกหนึ่งหยด และอีกหลายหยด ปลิดตัวเองลงบนพื้น...มันจะเชื่อมโยง เกาะตัว  โดยมีพลังในการเหนี่ยวนำเข้าหากันและกันในระยะใกล้ สะสมเป็นก้อนน้ำที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ (การสะสมกำลัง คน ความคิด ) มีการสะสมทางปริมาณ มากพอ จึงเกิดการเคลื่อนไหว....

            ผู้ก่อการใหม่ ในความคิดใหม่ที่กลั่นตัวแล้ว...ต้องการพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหว โดยเริ่มจากคน กลุ่มคนเล็กๆ ทำงานในพื้นที่ใกล้ๆกัน พร้อมหนุนเสริม ช่วยเหลือกัน สะสมพลัง สะสมคน บ่มสถานการณ์จนได้ที่ จึงเริ่มการเคลื่อนไหว.....

            น้ำที่นองพื้นเริ่มเคลื่อนไหว จับตาดูทิศทางการเคลื่อนไหวของสายน้ำ....หนึ่ง ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำกว่า  สอง ลัดเลาะลื่นไหลในทิศทางหลักแม้จะโค้งคดเคี้ยวตามลักษณะสิ่งกีดขวางอย่างไรก็ตาม....สาม ในทางลึกน้ำจะไหลซึมทิ้งความชุ่มฉ่ำไว้ในทุกอณูที่ไหลผ่าน....

            การเคลื่อนไหวใหม่....เริ่มจากการกลั่นตัวและฟักตัวในที่สูง คอหอย มหาลัย  สถาบันวิชาการ วงสัมมนา การประชุม งานวิจัย......ฯลฯ  ก่อนไหลลงสู่สามัญ คือพื้น และไหลลื่น ลัดเลาะทั้งอ้อม ท่วม กระแทกกระทั้น สิ่งกีดขวางทั้งปวง...ลงสู่พื้นดิน เพื่อไหลซึมลงสู่รากแก้ว...สู่คนสามัญ ชนชั้นและชั้นชนที่เป็นพื้นฐานของสังคม รวมทั้งกรรมกร ชาวนา....

            ศิลปะ ในการเคลื่อนไหวใหม่ คือ การไหลลื่น เพราะทุกคนมีการจัดตั้งโดยตนเอง และทำงานตามแนวคิด นโยบาย มุ่งสู่ทิศทางเดียวกัน และทุกคนคือดาวฤกษ์และดาวเคราะห์พร้อมๆกันการอ่อนตัวในการเคลื่อนไหว รับตัวเข้ากับเป้าหมายได้ทุกรูปแบบ เพราะยึดถือเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของภารกิจเป็นตัวตั้ง

            เป็นแนวทางการเคลื่อนไหวใหม่...ที่ใช้ ใจ จิตวิญญาณ เป็นพลังในการขับเคลื่อน...ใช้เป้าหมายตามความคิดใหม่ที่ควบแน่นแล้ว เป็นทิศทาง ที่ต้องมุ่งไปดั่งสายน้ำ ที่แม้มีอุปสรรคมากมายกีดขวางอยู่ก็ตามก็ผ่านไปได้ด้วยการอ่อนตัวเข้ารูป และทิ้งความคิดใหม่ แนวทางการเคลื่อนไหวใหม่ รวมทั้งอาจทิ้งคนไว้บนพื้นดินที่น้ำไหลผ่าน ในภารกิจของงานที่สำเร็จแล้ว  ในองค์กร เครือข่าย สายปฏิบัติการที่ร่วมทำงานด้วย.....

            การเคลื่อนไหว แม้อ่อนตัว อ่อนไหว ต้องใช้ศิลปะในการขับเคลื่อนไม่น้อย...แต่ในความเรื่อยไหลเย็น นั้น การเคลื่อนไหวของเราก็พร้อมปรับตัวและปรับโหมดได้ทันทีตามความจำเป็น

           

๔. บทสรุป

               ขบวนการประชาสังคมเข้มข้นก่อเกิดในช่วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองบีบอัดรัดแน่น ไม่มีทางออก และกำลังไหลสู่ทิศทางแห่งความหายนะ จึงมีพันธะต่อสังคม ชุมชน ท้องถิ่นในการเข้าร่วมแบกรับภารกิจสำคัญในการนำพาสังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ให้ได้

               ด้วยองค์ประกอบของเงื่อนไขการสร้างกระบวนการฟักตัวของขบวนประชาสังคมเข้มข้น คือ ความหยุ่นตัว อ่อนไหว แต่เข้มข้น และมีพลัง จึงจะเป็นคุณสมบัติสำคัญที่รองรับสภาพการณ์ความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหญ่นี้ได้

               ด้วยการดูดซับความรุนแรง สร้างเงื่อนไขสันติ สมานฉันท์ บนพื้นฐานการแก้ไขปัญหาประเทศชาติ สังคม ชุมชน ท้องถิ่น อย่างมีข้อเสนอเป็นรูปธรรม สร้างสรรค์ และหวังผลได้  ชูเงื่อนไขการสร้างดุลยภาพทางสังคม เป็นเป้าหมายสำคัญ

 

 

            ขบวนการประชาสังคมเข้มข้น เพื่อการรอดพ้นวิกฤติสังคมไทย.

 

 

.................................................

 




 



[1] สิริพรรณ  นกสวน . ๒๕๕๐. ประชาธิปไตยทางตรง ใน คำ และความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย บรรณาธิการโดย สิริพรรณ นกสวน และ เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  อ้างใน ประภาส  ปิ่นตกแต่ง . ๒๕๕๐ . ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy). เอกสารทางวิชาการประกอบแผนพัฒนาการเมือง . ภาคผนวก : หน้า ๒๑๖
[2] วิภาดา กิติโกวิท .๒๕๕๐ . ในคำนำผู้แปล สัญญาประชาคม หลักแก่งสิทธิทางการเมือง .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ทับหนังสือ .น.๑๔
[3] ฌอง-ฌากส์ รูสโซ . ๒๕๕๐ . สัญญาประชาคม : หลักแห่งสิทธิทางการเมือง . แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ทับหนังสือ .
[4] เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ . ๒๕๕๐ . การเมืองของพลเมือง : สู่สหวัสวรรษใหม่ . กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ
[5] เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ . , อ้างแล้ว
[6] เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ , อ้างแล้ว
[7]เสกสรรค์  ประเสริฐกุล .๒๕๔๘. การเมืองภาคประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย . กรุงเทพฯ :  สำนักพิมพ์อมรินทร์ ., น.๑๔
[8] ยุทธนา  วรุณปิติกุล . ๒๕๔๒ . สำนึกพลเมือง : ความเรียงว่าด้วยประชาชนบนเส้นทางประชาสังคม .  กรุงเทพฯ : มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม,  น. ๔๑
[9] เพิ่งอ้าง , หน้า ๖๕
[10] บวรศักดิ์  อุวรรณโณ  กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง เส้นทางสู่ความเข้มแข็ง...การเมืองภาคพลเมือง ณ ห้องประชุมอาคารพิทยพัฒน์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี เมื่อ วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑ จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า พอช. และเครือข่ายฯ
[11] ประเวศ วะสี . ๒๕๔๒ . ใน ขบวนการประชาสังคมไทย : ความเคลื่อนไหวภาคพลเมือง  อนุชาติ  พวงสำลี และ กฤตยา  อาชวนิจกุล บรรณาธิการ . กรุงเทพฯ : โครงการวิจัยและพัฒนาประชาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล .
[12] เพิ่งอ้าง
[13] ยุทธนา  วรุณปิติกุล . ๒๕๔๒.  สำนึกพลเมือง : ความเรียงว่าด้วยประชาชนบนเส้นทางประชาสังคม . กรุงเทพฯ : มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม .
[14] ชัยอนันต์  สมุทวณิช .๒๕๓๙. ประชาสังคม กับ การพัฒนาสุขภาพ  อ้างใน สำนึกพลเมือง : ความเรียงว่าด้วยประชาชนบนเส้นทางประชาสังคม . ยุทธนา วรุณปหิติกุล สุพิตา  เริงจิต , บรรณาธิการร่วม . กรุงเทพฯ , หน้า ๙๖.
[15] เธนศ  อาภรณ์สุวรรรณ. ๒๕๔๐ . ประชาสังคม : พัฒนาการและนัยยะแห่งอนาคต . อ้างในใน สำนึกพลเมือง : ความเรียงว่าด้วยประชาชนบนเส้นทางประชาสังคม . ยุทธนา วรุณปหิติกุล สุพิตา  เริงจิต , บรรณาธิการร่วม . กรุงเทพฯ , หน้า ๙๕.
[16] อเนก  เหล่าธรรมทัศน์ .๒๕๔๒. ส่วนรวมที่มิใช่รัฐ : ความหมายของประชาสังคม . อ้างใน ขบวนการประชาสังคมไทย : ความเคลื่อนไหวภาคพลเมือง บรรณาธิการร่วม โอนุชาติ พวงสำลี และ กฤตยา  อาชาวนิจกุ ล .  หน้า ๓๕.
[17] ธีรยุทธ   บุญมี . ๒๕๔๗ . ประชาสังคม  ( Civil Society)  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สายธาร.,  น.๑๙
[18] ธีรยุทธ . , เพิ่งอ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น